วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ของการลงทุน Value Way

chinese new year Graphics


ถ้าเปรียบเทียบการลงทุนเหมือน "การปีนบันได" ที่ต้องเริ่มจากขั้นแรกก่อนที่จะขึ้นไปขั้นต่อๆ ไป เราสามารถแบ่งระดับการลงทุนของแต่ละคนได้ 7 ระดับดังต่อไปนี้

ระดับศูนย์: ไร้ระดับ (Non-Existent)

คนที่อยู่ในขั้นนี้เรียกว่า ไม่มีความรู้เรื่องการเงินเอาเสียเลย ไม่มีทั้งเงินเก็บและเงินลงทุนแต่อย่างใด เรียกว่ามีเงินเท่าไหร่ก็ใช้หมด ถ้าถามพวกเขาว่าพวกเขามีปัญหาอะไร จะได้คำตอบว่าเพราะหาเงินได้น้อยเกินไป คนกลุ่มนี้มักจะบอกว่าถ้าพวกเขาหาเงินได้มากกว่านี้ก็จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จริงๆ แล้วพวกเขาไม่เข้าใจว่า ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะหาเงินได้ไม่พอ แต่ปัญหาเกิดจากนิสัยการใช้จ่ายเงินเกินตัวของตนเองมากกว่า


ระดับหนึ่ง: ช่างกู้ (Borrower)

ดูๆ ไปแล้ว พวก"ช่างกู้" มักจะมีสถานะทางการเงินแย่กว่าพวก"ไร้ระดับ"เสียอีก คนอยู่ในระดับนี้มักจะใช้เงินที่หาได้ไปซื้อนู้นซื้อนี่จนหมด เรียกว่าใช้เงินเดือนชนเดือน ถ้ามีเงินไม่พอใช้ วิธีแก้ปัญหาของชนกลุ่มนี้ก็คือ "กู้เพิ่ม" ถ้าสมัครเครดิตการ์ดได้อีกหลายๆ ใบเพื่อเอาเงินบัตรใหม่มาหมุนจ่ายหนี้บัตรเดิมได้ ดูจะเป็นวิธีการที่วิเศษสุดๆ รวมทั้งการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ หรือเงินกู้ยืมจากญาติพี่น้องก็เป็นทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหาทางการเงินของคนกลุ่มนี้ ไม่จำเป็นว่า ปัญหาจะเกิดเฉพาะกับผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น คนที่มีรายได้สูงแต่หาเงินได้ไม่พอใช้จ่ายก็อาจจะตกอยู่ในสภาพหนี้ท่วมหัวได้เช่นเดียวกัน
พวก"ช่างกู้"มักจะพบว่าตนเองตกอยู่ในวังวนของหนี้สินเมื่อไม่มีหนทางให้กู้เพิ่มเติมได้อีกแล้ว เมื่อถึงจุดนั้น ส่วนใหญ่จะหมดหวังและจบลงในสภาพฐานะทางการเงินล้มเหลว ถ้าคนกลุ่มนี้ไม่มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงนิสัยการใช้จ่ายของตนเองแล้ว โอกาสที่จะ"ล้มละลาย"มีอยู่สูงทีเดียว


ระดับสอง: ช่างเก็บ (Saver)

"ช่างเก็บ" มักจะเก็บออมเงินที่หาได้ในแต่ละเดือนอย่างสม่ำเสมอ เงินที่เก็บได้ก็มักจะฝากเอาไว้ในธนาคารที่มี "ความเสี่ยงต่ำ' ถึงต่ำที่สุด เช่น บัญชีออมทรัพย์ หรือ บัญชีเงินฝากประจำ คนกลุ่มนี้มักจะเก็บเงินเอาไว้เพื่อ "ใช้จ่าย" มากกว่านำไป "ลงทุน" เช่น เก็บเงินเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ หรือ ซื้อเครื่องเสียงชุดใหม่ ฯลฯ
พวกเขาไม่ชอบ"ความเสี่ยง" แม้แต่นิดเดียว วิธีการลงทุนที่เยี่ยมยอดของคนกลุ่มนี้ก็คือ การซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ หรือฝากเงินไว้กับธนาคารที่เขามั่นใจได้ว่าเงินต้นไม่มีวันลดลง ซึ่งในความเป็นจริง พวกเขาไม่เข้าใจว่าผลตอบแทนจากเงินฝากธนาคารที่แท้จริงนั้นติดลบ เพราะอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันสูงกว่าดอกเบี้ยที่ได้รับ ในระยะยาวแล้วเงินออมที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในอนาคต เมื่อถึงคราวเกษียณ พวกเขาอาจจะต้องพึ่งพาลูกหลาน หรือเงินบำเหน็จบำนาญในการเลี้ยงชีพเป็นหลัก


ระดับสาม: นักลงทุนผู้ล้าหลัง (Passive Investor)

นักลงทุนประเภทนี้ รู้สึกว่าตนเองมีความจำเป็นจะต้องลงทุนบ้าง ส่วนใหญ่มักจะลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลงทุนในกองทุนรวมอื่นๆ พูดได้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนฉลาด มีการศึกษาดี ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม"คนชั้นกลาง"ของประทศ แต่ถ้าพูดถึงเรื่อง"การลงทุน"แล้ว คนกลุ่มนี้เรียกว่าแทบจะไม่มีความรู้เรื่องการเงินแต่อย่างใดหรือถ้ามีก็มีน้อยมาก

นักลงทุนผู้ล้าหลังประเภทหนึ่งเรียกว่า พวกชอบอยู่ในกระดอง (Gone-into-a-shell Passive Investor) คือ กลุ่มคนที่มักจะคิดอยู่เสมอว่า ตนเองไม่มีวันที่จะเข้าใจเรื่องเงินๆ ทองๆ ได้
คำพูดส่วนใหญ่ของคนในกลุ่มนี้ที่มักจะได้ยินก็คือ...
"ผมหรือดิฉันไม่เก่งเรื่องตัวเลข, มันยุ่งยากเกินไป, บริษัทและผู้จัดการกองทุนดูแลผลประโยชน์ได้ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง, ฉันยุ่งจนไม่มีเวลาคิดเรื่องลงทุน ฯลฯ"
ทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นเพียงคำแก้ตัวเพื่อให้ตัวเองปลอดจากความรับผิดชอบในเรื่องเงินของตนเองซะมากกว่า

นักลงทุนผู้ล้าหลังประเภทสอง คือ พวกที่ชอบคิดว่า 'ไม่มีทางทำได้' (It-Can't-Be-Done Passive Investor) นักลงทุนประเภทนี้เข้าใจว่ามีทางที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคาร แต่การที่จะทำอย่างนั้นได้อยู่นอกเหนือความสามารถของตนเองและคนอื่น คนที่จะลงทุนได้ประสบความสำเร็จในความเห็นของคนกลุ่มนี้จะต้องเป็นคนที่มี"พรสวรรค์" หรือไม่ก็เป็นคนที่"โชคดี"ที่รู้ข่าววงใน หรือไม่ก็ต้องเป็น"ผู้เชี่ยวชาญ"ทางการเงินเท่านั้น
พวกเขามักจะอ้างว่า ที่คนอื่นรอบๆ ตัวประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้นเป็นเพราะ"โชค"มากกว่า"ฝีมือ" ส่วนใหญ่มักจะพูดประชดประชันให้คนอื่นหมดกำลังใจ และพยายามให้มาอยู่เป็นพวกเดียวกัน พวกเขากลัวที่จะเห็นคนอื่นได้ดีกว่า เลยพยายามลากคนอื่นๆ รอบตัวไม่ให้เด่นกว่าตนเอง ส่วนใหญ่จะวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น รวมทั้งหา"เหตุผล"ที่จะบอกว่าทำไมเราถึงไม่สามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ และมักจะโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาบอกนั้นเป็นความจริง
ถ้าเคยคุยกับคนเหล่านี้มักจะได้ยินว่า "โอ้ย ที่ทำได้นะเป็นเพราะฟลุ้คซะมากกว่า ผมไม่เชื่อหรอกว่าที่คุณบอกน่ะมันจะเป็นจริง ใครถือหุ้นไว้ไม่ยอมขายก็บ้าแล้ว ใครๆ เขาก็ซื้อมาขายไปทั้งนั้นหละ ผมไม่เชื่อหรอกว่าถือหุ้นนานๆ จะได้กำไร สักวันราคาก็กลับมาเท่าเดิม รีบๆ ขายไปเถอะ เดี๋ยว 'ขาดทุน' จะหาว่าไม่บอก"
สำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่ามักจะเจอกับสถานการณ์เช่นนี้อยู่บ่อยๆ ถ้าท่านได้พบได้เจอนักลงทุนประเภทนี้ ขอแนะนำให้อยู่ห่างๆ ไม่ต้องตอบโต้หรือ พยายามให้เขาเข้าใจในสิ่งที่คุณทำ อย่าท้อถอยกับคำสบประมาททั้งหลายที่ได้รับ จงมุ่งมั่นในแนวทางการลงทุนของคุณต่อไป เมื่อไหร่ที่คุณประสบความสำเร็จ เขาจะเข้าใจคุณเอง

นักลงทุนผู้ล้าหลังประเภทสุดท้ายคือ นักลงทุนผู้ตกเป็น 'เหยื่อ' (Victim Passive Investor)
เช่นเดียวกับสองพวกแรก นักลงทุนประเภทนี้เป็นกลุ่มคนที่ฉลาด มีการศึกษา มีหน้าที่การงานดี แต่เมื่อพูดถึงการลงทุนแล้ว นักลงทุนประเภทนี้ไม่มี 'หลักการ' หรือ 'กฎ' ในการลงทุนแต่อย่างไร มักจะชอบซื้อหุ้นตอนราคาสูงเพราะกลัวตกรถไฟ แต่แล้วก็ตกใจขายเมื่อเห็นราคาหุ้นปรับตัวลง
ส่วนใหญ่มากกว่า 90% มักจะขาดทุนในตลาดหุ้น แต่กระนั้นก็ยังไม่เข็ดและพยายามค้นหา"เคล็ดลับ"ในการลงทุนในตลาดหุ้นต่อไป พวกเขามองตลาดหุ้นเหมือน"บ่อนพนัน"ที่ถูกกฎหมาย มีคนได้ก็จะต้องมีคนเสีย รวมทั้งมันน่าตื่นเต้นเร้าใจ มีเรื่องให้ลุ้นได้ทุกวัน
สังเกตดูคนกลุ่มนี้ได้ง่ายๆ ก็คือ ชอบพึ่งพาคนอื่นในการลงทุน มักชอบถามว่า"ตอนนี้ ซื้อหุ้นอะไรดี" หรือ "ตอนนี้ หุ้นตัวไหนน่าเล่น" กลยุทธ์คือ ถ้าถามหลายๆ คนแล้วได้ชื่อหุ้นมาตรงกัน แสดงว่าเป็น"หุ้นที่ดี" ซื้อได้ แต่เมื่อซื้อมาแล้วมักไม่ทราบว่าจะ"ขาย"ตอนไหนดี ส่วนใหญ่จะขายก็เมื่อพบว่าราคาหุ้นลดลงมาต่ำกว่าทุนไปแล้ว
ถ้าสังเกตจะพบว่า วันไหนซื้อหุ้นแล้ว"ขาดทุน"จะเห็นเขาเงียบๆ จ๋อยๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ได้"กำไร" เขาจะป่าวประกาศให้โลกรู้ว่า วันนี้ได้กำไรเท่านั้นเท่านี้
นักลงทุนประเภทนี้มักไม่ค่อยมี"ความอดทน"เท่าไหร่นัก อะไรที่ได้เงินมาง่ายๆ ก็จะรีบกระโดดเข้าไปทันที เช่น หุ้นจอง หรือ หุ้นเก็งกำไรทั้งหลาย พวกเขาอาจจะซื้อขายในเครื่องมือทางการเงินที่ทันสมัย เช่น Cover-Warrant เช่น SCIB-C1 แต่ถ้าถามว่าวอร์แรนท์ชนิดนี้คืออะไร ต่างกับวอร์แรนท์ธรรมดาอย่างไร พวกเขามักจะไม่ทราบว่ามันคืออะไรต่างกันอย่างไร แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือในตลาดกำลัง"เล่น" ตัวนี้กันอยู่
มีผู้รู้บอกเอาไว้ว่า นักลงทุนประเภทนี้พยายามค้นหา"สูตรสำเร็จ"ในการลงทุนเพื่อที่วันหนึ่งเขาจะลงทุนได้กำไรทุกครั้ง และจะกลายเป็นมหาเศรษฐีในวันข้างหน้า แต่สิ่งที่พวกเขาลืมก็คือ ลืมที่จะ"คิดด้วยตนเอง"


ระดับที่สี่: นักลงทุนอัตโนมัติ (Automatic Investor)

ถ้าใครมาถึงระดับนี้คงมั่นใจได้อย่างหนึ่งว่า ความสำเร็จในการลงทุนนั้นอยู่แค่เอื้อม และอิสรภาพทางการเงินกำลังรอท่านอยู่
นักลงทุนระดับนี้เข้าใจอย่างชัดแจ้งว่าการลงทุนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในชีวิตปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาเหล่านั้นต่างจากนักลงทุนผู้ล้าหลัง (Passive Investor) ก็คือ นักลงทุนอัตโนมัติมีส่วนร่วมในการตัดสินใจลงทุนของตนเอง และมีแผนการในการลงทุนระยะยาวที่ชัดเจนในการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้

พวกเขาไม่ค่อยสนใจที่จะ"เก็งกำไร"สักเท่าไหร่นัก ถ้าจะเก็งกำไรก็มักจะใช้เงินเพียง 5-10% ของเงินลงทุนเท่านั้น พร้อมทั้งมีกฎตายตัวที่แน่นอนที่จะ"จำกัด"ความเสี่ยงของการเก็งกำไร

ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการลงทุนที่เน้น"ความเรียบง่าย" เช่น ลงทุนระยะยาวในหุ้นพื้นฐานดี หรือซื้อกองทุนที่มีการบริหารงานที่ดี โดยมีโอกาสในการทำผลตอบแทนได้ 10%+ ต่อปี

พวกเขามักไม่ชอบใช้บัญชีมาร์จินในการซื้อขายหุ้น หรือเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ที่ "มืออาชีพ" ชอบใช้กัน แต่พวกเขาลงทุนด้วยแผนการลงทุนอัตโนมัติ เช่น แบ่งเงินส่วนหนึ่งทุกๆ เดือนเพื่อนำไปซื้อหุ้นหรือกองทุน

ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะ"เก็บเงิน" ที่เหลือจากการใช้จ่าย เช่น ทำงานได้เงินเดือนประจำ เมื่อเงินเดือนออกก็เริ่มใช้จ่ายไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการกำหนดว่าจะใช้จ่ายรายการไหนเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ เมื่อถึงสิ้นเดือนมักจะพบว่า เงินเดือนที่ได้รับมานั้นหมดลงพอดี ถึงแม้จะตั้งใจไว้ว่าจะเก็บเงิน แต่ก็มักมีค่าใช้จ่าย "ฉุกเฉิน" ในแต่ละเดือนอยู่เสมอๆ สุดท้ายแล้วก็เก็บเงินไม่ได้สักที

สำหรับนักลงทุนระดับนี้จะใช้จ่ายเงินที่เหลือจาก "เงินเก็บ" นั่นคือเมื่อได้รับเงินเดือนจะแบ่งนำไปลงทุนส่วนหนึ่งอย่างสม่ำเสมอทุกๆ เดือน อาจแบ่งเป็นเงินเก็บประมาณ 30-50% ที่เหลือถึงนำไปใช้จ่าย
ระดับขั้นของการลงทุนระดับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่ำรวย พวกเขาเข้าใจว่า อิสรภาพทางการเงินไม่ได้เกิดจาก "โชค" แต่เกิดจากความอดทนและการวางแผนทางการเงินที่ดี

ระดับห้า: นักลงทุนผู้ก้าวหน้า(Active Investor)

ในสองระดับสุดท้ายของบันไดของการลงทุน เป็นระดับที่มีน้อยคนจะไต่มาถึง ซึ่งถ้าถามคนส่วนใหญ่แล้วมักคิดว่าต้องมาถึงสองระดับสุดท้ายแล้วเท่านั้นถึงจะ"รวย" แต่ในความเป็นจริง เพียงแค่มาถึงระดับสี่หรือนักลงทุนอัตโนมัติก็เพียงพอที่ทำให้ท่านมีเงินได้แล้ว

ก่อนที่จะมาถึงระดับห้าได้ นักลงทุนจำเป็นจะต้องผ่านระดับสี่มาก่อนแล้วเท่านั้น มีตัวอย่างมากมายที่หลายคนอยากจะ"รวย" เพียงชั่วข้ามคืน กระโดดมาที่ระดับห้าอย่างรวดเร็ว เพียงเพราะเห็นหลายๆ คนทำเงินได้อย่างมากมายจากตลาดหุ้น จึงอดใจไว้ใม่ได้ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในความร่ำรวยที่เกิดขึ้น สุดท้ายก็ต้อง"ขาดทุน" จนถึงกับบอกตัวเองว่าจะเลิก"เล่นหุ้น"ไปเลยก็มี

นักลงทุนระดับห้าเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การที่จะมาถึงระดับนี้ได้จำเป็นต้องมี"หลักการ"และ"กฎ"ในการลงทุนที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ถึงแม้พวกเขาจะลงทุนในเครื่องมือที่แตกต่างกัน เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรืออัตราแลกเปลี่ยนก็ตาม แต่หลักการและกฎเกณท์ต่างๆ ที่ใช้ ไม่ได้มีความแตกต่างกัน
พวกเขาเข้าใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ และพยายามที่จะทำผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็สามารถ"จำกัด"ความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี ผลตอบแทนจากการลงทุนปีละ 20-100% ถือเป็นเรื่องปกติ สำหรับนักลงทุนระดับนี้

ขณะที่คนส่วนใหญ่"ทำงานเพื่อเงิน" แต่นักลงทุนระดับห้า"ใช้เงินทำงาน"อย่างขะมักเขม้น


ระดับหก: นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ (Capitalist)

ระดับขั้นสุดท้ายของนักลงทุนก็คือ Capitalist หรือนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ นักลงทุนระดับนี้เป็นผู้สร้างความเจริญให้กับสังคมและมนุษยชาติ เป็นผู้สร้างงานให้กับคนมากมาย และยกระดับมาตรฐานการครองชีพของคนในโลกให้ดีขึ้น สิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือ การที่สิ่งต่างๆ ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาจะคงอยู่ตลอดไปถึงแม้พวกเขาจะจากโลกนี้ไปแล้ว มีน้อยคนที่จะมาถึงระดับขั้นนี้ได้ในโลก

ลองนึกถึงฟอร์ด, ร็อคกี้เฟลเลอร์, หรือแม้กระทั่งบิล เกตต์ ซึ่งเป็นผู้ที่แทบจะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของคนเราทุกคนในโลกนี้ ด้วยรถยนต์ราคาถูก หรือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่คนทั่วโลกใช้ในการติดต่อสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน

ทั้งหมดของบันไดการลงทุนจัดแบ่งโดย จอห์น เบอร์เล่ย์ (John R. Burley) ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.johnburley.com

จะเห็นว่าบันไดของการลงทุนมีหลายขั้นแตกต่างกันไป แต่การที่จะไปให้ถึงเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ จำเป็นจะต้องมาถึงอย่างน้อยระดับที่สี่ของการลงทุน (Automatic Investor) ทำให้การศึกษาหาความรู้ทางการลงทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในปัจจุบันอัตราผลตอบแทนจากการฝากเงินไว้กับธนาคารหรือดอกเบี้ยที่แท้จริงมีค่าติดลบ การนำเงินไปฝากไว้ในธนาคารเฉยจึงเปรียบเสมือนการที่เงินมีค่าลดลงไปทุกวัน ดังนั้นการหาช่องทางการลงทุนที่ดีกว่าจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจศึกษาและทดลองปฏิบัติ
ว่าแต่ว่า วันนี้ท่านมาถึงระดับสี่ของการลงทุนหรือยัง?

ที่มา http://www.doohoon.com/smf/index.php?action=printpage;topic=17572.0

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Link-Seed

  • Link-Seed - ผมได้รวบรวมลิงค์ "การเงิน-การลงทุน" ที่ผมสนใจมาแปะเอาไว้ในบล็อก Link-Seed เพื่อเป็นเครื่องมือในการหาข้อมูลข่าวสาร และนำมาพิจารณาการลงทุนอีกทีหนึ่ง เพื่อนๆ ...
Custom Search
 
Financeseed Copyright © 2009 Blogger Template Designed by Bie Blogger Template