for everyone
"วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์“
หากใครเปิด Google แล้ว search หาคำว่า “วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” รับรองได้เลยว่าข้อมูลหลั่งไหลออกมายาวเป็นวา สื่อทุกแขนงเคยสัมภาษณ์เขา เพราะคนรุ่นใหม่ยกให้เขาเป็นโมเดลแห่งความคิดในเชิงบวก เด็กหลายๆ คนอยากเป็นเหมือนเขา บางคนอยากเข้าไปทำงานในนิตยสาร a day ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง
วงศ์ทนง จบปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในรั้วมหาลัยเขาเป็นคนเรียนได้เกรดไม่ค่อยจะสูงอะไรมากนัก แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขาล้มเหลว ตรงกันข้ามกลับประสบความสำเร็จในสายอาชีพชนิดใครๆ พากันอิจฉา
หลังจบ การศึกษาเขากลับมากรุงเทพเพื่อตามหาฝันของตัวเองด้วยการร่อนส่งใบสมัครงาน ตามกองบรรณาธิการต่างๆ เขาเริ่มต้นที่กองบรรณาธิการนิตยสาร Hi-Class ในปี 2533 ทำได้ปีเดียวก็กระโดดไปอยู่กองบรรณาธิการนิตยสาร Life & Decor อยู่ได้ราวๆ 4 ปี แล้วไปอยู่ที่กองบรรณาธิการบทความ นิตยสาร GM อยู่ได้เพียงปีเดียว เขาได้รับการทาบทามไปเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Trendy Man ในปี 2538 ขณะที่อายุเพียง 26 ปี จึงถูกบันทึกให้เป็นบรรณาธิการอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย ในขณะนั้น
เมื่อ ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ Trendy Man ปิดกิจการเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ หลายร้อยหลายพันแห่ง เขาต้องจำใจเดินออกไป และได้งานในฐานะรองบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Image ในช่วงปี 2541 แต่ก็ทำได้เพียงปีเดียว ก็ตัดสินใจก้าวออกมาเพื่อสร้างความฝันของตัวเองให้เป็นจริง
เขามี ความเชื่อว่าจะต้องทำหนังสือให้เหมือนการทำชีวิต เขาจึงก่อตั้งนิตยสาร a day ร่วมกับเพื่อนสนิทอีก 2 คน คือ นิติพัฒน์ สุขสวย และ ภาสกร ประมูลวงศ์ และเพื่อนๆ อีก 3 คน แต่จุดเริ่มต้นของเขาแปลกแหวกแนวเพราะเป็นคนที่คิดนอกกรอบ
ปีนี้ วงศ์ทนงมีอายุย่างเข้าเลขสี่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าหน้าตาของเขายังหนุ่มยังแน่น ด้วยอารมณ์แจ่มใส เวลาคุยกับใครมักจะมีมุขขัน และเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าเขาตลอดเวลา
: เริ่มรู้ว่าหลงไหลตัวหนังสือเมื่อไหร่
ครอบครัว ของผมอยู่ในฐานะปานกลาง แต่พี่สาวเคยบอกผมไว้ว่าก่อนที่ผมจะเกิดครอบครัวเราเคยรวยมาก่อน ครอบครัวผมมีพี่น้อง 7 คน ชาย 2 หญิง 5 แล้วชีวิตผมเริ่มเหงาเมื่อพี่ชายคนโตบินไปเรียนต่อที่อังกฤษตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ผมกลายเป็นลูกชายคนเดียวในบ้าน ทำให้เวลาเล่นกับพี่ๆ ซึ่งเป็นผู้หญิงก็ลำบาก ผมจึงต้องมองหาโลกที่ทำให้ตัวเองสบายใจ หาทางออกให้กับตัวเอง จึงค้นพบว่าการอ่านหนังสือถือเป็นมิตรกับคนที่เหงาๆ ทำให้เกิดจินตนาการ ได้ความรู้ความคิด ผมจึงหลงไหลการอ่านหนังสืออย่างมาก
: เริ่มเข้าสู่โลกหนังสือเมื่อไหร่?
ผม ก็เหมือนเพื่อนๆ ที่จบมหาวิทยาลัยก็ต้องหางานที่ตัวเองรักทำ ก็ไปสมัครงานกับกองบรรณาธิการหนังสือ ผมโชคดีที่ได้ทำงานกับหนังสือหลายๆ เล่ม จนกระทั่งวันหนึ่งผมรู้สึกว่านิตยสารที่ทำอยู่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ผมอยากทำหนังสือให้คนอ่านชอบตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย
แนวคิด นี้เริ่มจุดประกายสุดๆ ในช่วงที่ทำงานอยู่ที่ Image แต่แนวคิดแบบนี้ใครจะไปจ้างให้ผมทำ แต่ผมก็ตัดสินใจลาออกพร้อมๆ กับเงินเก็บราวๆ 3 แสนบาท แต่บอกได้เลยว่าถ้าทำนิตยสารของตัวเองด้วยเงินแค่นี้ไม่พอแน่นอน เพราะต้นทุนการทำแต่ละเล่มต้องล้านบาทขึ้นไป
ผมเดินไปเสนอโครงการทำ นิตยสารในความคิดของผมกับนายทุน 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ แต่ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง แต่ผมก็มีแนวคิดว่าจะต้องทำตามสิ่งที่วางไว้ เมื่อถูกปฏิเสธก็ต้องมานั่งทบทวนการทำหนังสือใหม่ ผมไม่ได้ย้อท้อที่สำคัญกลับมีแรงฮึดสู้
แรงบันดาลใจสำคัญ คือ โน๊ต อุดม แต้พานิช ซึ่งเป็นเพื่อนผม เล่าให้ฟังว่าที่อังกฤษมีผู้ชายคนหนึ่ง อาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์ ความคิดเหมือนโหน่งเลย ทำหนังสือทำมือทั้งเล่ม เขียนเอง จัดหน้าเอง พิมพ์เอง แล้วนำไปแจกฟรีให้กับเพื่อนร่วมในอพาร์ทเม้นท์ แจกทุกเดือน จนกระทั่งทุนหมดก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงนั่งลงมือเขียนจดหมายแล้วส่งไปยังเพื่อนร่วมอพาร์ทเม้นท์ว่าผมชอบทำ หนังสือมาก แต่ตอนนี้ทุนหมด ถ้าใครอยากได้หนังสือของผม ให้ส่งเงินมาแล้วผมจะส่งหนังสือไปให้
จากนั้นเขานำจดหมายฉบับนี้ไป สอดไว้ตามห้องในอพาร์ทเม้นท์ ปรากฏว่าทุกคนส่งเงินมาให้เขา เพราะชอบหนังสือที่เขาทำขึ้นมา นิตยสารเล่มนั้นมีชื่อว่า i-D ซึ่งโด่งดังมากในทุกวันนี้
คุณโน๊ตเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง ผมเกิดแรงบันบาลใจอย่างหนึ่งว่า จริงๆ แล้วนิตยสารเล่มหนึ่งจะอยู่ได้อย่างยาวนาน ไม่ได้อยู่ที่เรื่องโฆษณา นายทุน แต่อยู่ได้จากแฟนๆ หนังสือ ผมจึงนำฐานข้อมูลรายชื่อที่เป็นสมาชิกนิตยสารที่ผมเคยทำงานอยู่ แล้วผมเขียนจดหมายไปให้พวกเขาว่าผมต้องการเงินทุน 1 ล้านบาท ผมจะระดมทุนเพื่อมาทำนิตยสารเล่มหนึ่ง ผมจะขายหุ้น 1,000 หุ้น ใครสนใจร่วมหุ้นกับผมบ้าง
ในจดหมายนั้นผมบอกหมดเลยว่าจะทำนิตยสาร อะไร แบบไหน เป้าหมายคนอ่านคือใคร ซึ่งแรกๆ ก็ฝืดมากไม่ค่อยมีใครสนใจ จนผมงัดกลยุทธ์วิธีประชาสัมพันธ์ตัวเองด้วยการให้เพื่อนๆ ในวงการสื่อลงบทสัมภาษณ์ของผม เพียงแค่ 3 เดือนหลังจากนั้นมีคนทั่วประเทศส่งเงินมาร่วมหุ้นกับผม 1 ล้านบาท
หลังจากนั้น a day ฉบับปฐมฤกษ์ที่มีชื่อว่า New Age ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2543
: แนวคิด a day เป็นอย่างไร?
ผม อยากให้เป็นนิตยสารที่อ่านแล้วได้แรงบันดาลใจ ให้ความประทับใจ อ่านแล้วให้ความงาม ประทับใจ ให้ความรู้สึกดีกับชีวิต อยากจะพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น สรุปแล้วเป็นนิตยสารให้ความคิดในแง่บวก
ช่วง แรกๆ ที่ a day ออกมา คนเรียกว่าเป็นหนังสือของเด็กแนว ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าเด็กแนวแปลว่าอะไร แต่ถ้าจะให้สรุปความน่าจะเป็นการหาแนวทางของตัวเองที่แตกต่างจากกระแสหลัก ซึ่งตรงกับแนวคิดของผมที่ต้องการให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดจินตนาการในเชิงบวก และหลังจากนั้นตลาดของ a day กว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นนิตยสารอันดับหนึ่งมาโดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมาสำหรับกลุ่มนักศึกษา และคนที่เพิ่งเริ่มต้นในวัยทำงาน
: ที่มาของแนวคิดการทำนิตยสารรายสัปดาห์แจกฟรี a day Bulletin?
เป็น หนังสือแจกฟรีฉบับล่าสุดของคนเมืองกรุง ผมให้สโลแกนว่า The Urban Current Magazine ผมมองว่าหนังสือแจกฟรีเป็นโมเดลที่น่าสนใจ ที่น่าจะตอบโจทย์กับผู้คนในสังคมได้ เพราะทุกวันนี้คนมีเงินในกระเป๋าจำนวนเท่าเดิม แต่มูลค่าของเงินกลับลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นเวลาคนจะควักเงินซื้อนิตยสารสักเล่มจะคิดแล้วคิดอีก แต่ถ้ามีนิตยสารแจกฟรี มี Content ดีๆ น่าอ่าน ผมว่าคนจะให้ความสนใจ
: มองตัวเองอย่างไร?
ผม ไม่ใช่นักเขียน ผมมองตัวเองว่าเป็นบรรณาธิการนิตยสาร แต่ผมก็ชอบเขียนหนังสือ เพราะเป็นงานที่มีความสุข โดยเฉพาะเมื่อเขียนแล้วมีคนอ่านแล้วชอบงานเขียนของผม
: ประสบการณ์กับการทำงานในนิตยสารเล่มอื่นๆ?
มี ค่ามาก ผมเรียนรู้กระบวนการทำหนังสือทุกขั้นตอน ที่สำคัญผมรู้ตัวเร็วว่าตัวเองเหมาะกับอะไร ชอบทำอะไร จะปักหลักชีวิตกับอะไร ผมเคยพูดบ่อยๆ ว่างานหนังสือเป็นงานแรกและงานสุดท้ายในชีวิต เพราะเป็นงานที่ชอบมากๆ เป็นงานแห่งความสุข ผมมีความรู้สึกว่างานที่ดีจะไม่เป็นภาระ แต่ควรเป็นกิจกรรมที่เข้ากับชีวิต
: จุดช่วงวิกฤติในชีวิตการทำงาน?
ผม เป็นบรรณาธิการนิตยสารอายุ 26 ถือว่าน้อยที่สุดในเมืองไทย ชื่อ Trendy Man ในสายตาตัวเองทำได้ดี แต่อีก 2 ปีถัดมาต้องปิดตัวลงจากผลพวงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวมาก แต่ผมมองว่าถ้าคนเรามีต้นทุนที่ดี มีประสบการณ์ที่ดีจะมาช่วยเราในยามวิกฤติ
หลังจากนิตยสาร Trendy Man ปิด ผมได้รับโทรศัพท์จากคนในวงการเยอะมาก โทรมาชักชวนไปทำงานด้วย สะท้อนให้เห็นว่าผมมีต้นทุนที่ดี
ผม ได้เรียนรู้ว่าวิกฤติต่างๆ มีประโยชน์กับชีวิตของคนมากกว่าคนที่ประสบความสำเร็จ ความล้มเหลวสอนชีวิตเยอะมาก ขณะที่ความสำเร็จเหมือนกับการอวยพร การยกยอ ผมเชื่อว่าโอกาสไม่ได้มาอย่างง่ายดาย หรืออยู่ดีๆ โอกาสจะตกลงมาใส่หัวทุกคน โอกาสลอยอยู่บนอากาศแล้วคนเราต้องไปคว้ามาให้ได้ ซึ่งแต่ละคนจะมีสายตาในการมองหาโอกาสไม่เท่ากัน คนที่มีสายตาพิเศษเท่านั้นที่มองเห็นโอกาส
: ช่วงที่ล้มเหลว?
ต้อง เชื่อว่าคนเราต้องแพ้ได้ เหมือนการเล่นฟุตบอลที่ไม่มีทีมไหนที่จะชนะทุกแม็ตช์ที่ลงไปเล่น ถึงแม้ว่าวันนั้นจะเล่นดีแต่ทีมอาจจะแพ้ก็ได้ ผมเชื่อเรื่องก๊อก 2 เพราะผมเชื่อว่าคนเราทุกคนมีมากกว่า 1 ก๊อกอยู่ในตัว เพียงแต่ว่าก๊อกถัดไปจะหาเจอหรือไม่ ส่วนตัวผมตอนนี้ใช้ก๊อก 3 ก๊อก 4 แล้ว
: ชอบคิดบวก?
การ คิดเชิงบวกเป็นวิธีที่ดีกับชีวิตตัวเอง ผมว่าคนไทยน่าจะคิดบวก การคิดในแง่บวกไม่ใช่การมองโลกที่สวยงามไปหมดทุกเรื่อง แต่การคิดในแง่บวก คือ การที่มีความหวังอยู่เสมอ แม้แต่อยู่ในสภาพที่จนตรอก ซึ่งดีกับชีวิตเพราะทำให้คนเราไม่ย่อท้อ
ผมเชื่อว่าถึงแม้วันนี้จะแย่แต่วันหน้าจะดีขึ้น ไม่มีอะไรที่แย่หรือดีตลอดเวลา ขอให้มีความหวังอยู่เสมอ และทำให้เต็มที่
: หลงไหลกีฬาฟุตบอล?
ผม ชอบเล่นฟุตบอลมาก เพราะเป็นกีฬาที่ “แมน” ดี และเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีม การเล่นเป็นทีมให้ความสุขได้ดี เป็นการร่วมมือประสานกัน เช่นเดียวกับการทำนิตยสารที่มีทีมงานหลายสิบชีวิตอยู่เบื้องหลัง ที่สำคัญผมมองว่าโลกนี้ไม่มีคำว่า One Man Show งานทุกอย่างที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีทีมงานอยู่เสมอ
สมัยเด็กๆ ดูบอลไม่ค่อยเป็น แต่เชื่อว่าเด็กทุกคนจะเชียร์ทีมที่เก่งๆ ซึ่งตอนนั้นทีมลิเวอร์พูลเก่งมาก ผมก็เชียร์ทีมนี้แต่เมื่อเล่นเก่งเกินไป การเชียร์เริ่มหมดสนุกแล้ว ผมว่าการเล่นกีฬาต้องมีแพ้บ้าง ชนะบ่อยๆ ไม่ตื่นเต้น ผมก็เลยมองหาทีมเชียร์ทีมอื่นบ้าง ก็หันไปเจอทีมที่ใส่เสื้อสีแดงเหมือนกัน นั่นคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ช่วงนั้นยังไม่เก่งก็เลยส่งใจไปช่วย สุดท้ายพวกเขาพัฒนาขึ้นมาจนเป็นสุดยอดในทุกวันนี้
ผมชอบแมนยูฯ เพราะว่าให้ความสำคัญกับการปั้นเด็กเยาวชนขึ้นมาเล่นทีมชุดใหญ่มาโดยตลอด แม้แต่ยุคปัจจุบันพวกเขายังให้ความสำคัญกับเด็กสร้างต่อไป ซึ่งทำให้เกิดความพผูกพันกับสโมสรเหมือนครอบครัวเดียวกัน มากกว่านักฟุตบอลที่ถูกซื้อตัวเข้ามา
: มององค์กรธุรกิจแบบไหน?
องค์ กรใดๆ ก็ตาม ผู้นำองค์กรมีความสำคัญมาก ต้องมีคุณสมบัติที่ดีเพื่อที่จะนำพาองค์กรไปสู่จุดหมายได้ ต้องมีพระเดช พระคุณ มีกึ๋น บุคลิกที่มีความเป็นผู้นำ ทุ่มเท เหมือนเซอร์อเล็ก เฟอร์กูสัน ผมว่าเป็นผู้นำครบเครื่องในสายตาของผม
: มองการเติบโตของธุรกิจอย่างไร?
ทุก วันนี้ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจมากนัก เพราะเคยมีบทเรียนกับ a day weekly ที่ผมต้องการให้ธุรกิจเติบโตอย่างมาก แต่สุดท้ายล้มเหลว แล้วผมกลับมานั่งคิดว่าธุรกิจไม่จำเป็นต้องเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ควรค่อยเป็นค่อยไป และทุกวันนี้ธุรกิจของผมเติบโตลง คือ ทำให้รากฐานมีความมั่นคง ซึ่งหลายๆ บริษัทให้ความสำคัญกับการโตขึ้น ทั้งๆ ที่พื้นฐานธุรกิจไม่แข็งแรง
: มองชีวิต คือ การลงทุนอย่างไร?
เป็น คำพูดที่ดี และเป็นประโยคที่เป็นจริงอย่างมาก ผมเชื่อว่าทุกคนมีต้นทุนในชีวิตมากบ้าง น้อยบ้าง แต่ทุกคนสามารถเพิ่มต้นทุนได้ เช่น การศึกษา ความรู้ การทำงาน สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ผมว่าคนที่ประสบความ สำเร็จในชีวิต เขาเลือกลงทุนได้ถูกที่ ถูกเวลา ถูกจังหวะ ซึ่งเกิดจากการศึกษา สังเกต เฝ้าดู และรู้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นทุกคนสามารถลงทุนให้กับชีวิตตัวเองได้ และแน่นอนการลงทุนจะถูก จะผิดได้ตลอดเวลา แต่การลงทุนของคนเรานั้นสามารถลงทุนได้ใหม่ๆ ตลอดเวลา
ชีวิต ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องหยุดการลงทุนแค่นี้ ผมเชื่อว่าคนเรามีการลงทุนได้ตลอดชีวิต ซึ่งการลงทุนครั้งสำคัญในชีวิตของผม คือ การได้ค้นพบโลกของการอ่าน ที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิต ให้ประโยชน์ ให้คุณค่ากับชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้
: มองอนาคตอย่างไร ?
ทุก วันนี้เทคโนโลยีก้าวไปเร็วมาก ดังนั้นพวกเรากำลังก้าวไปเป็น Content Provider ให้กับช่องทางอื่นๆ เช่น อินเทอร์เน็ต มือถือ หรือในรายการโทรทัศน์
โดย คอลัมน์ WEALTH MANAGEMENT ชีวิตคือการลงทุน นิตยสาร M&W
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น