วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กลยุทธ์สำหรับธุรกิจที่อ่อนแอ


วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

Five Forces model เครื่องมือในการวิเคราะห์การแข่งขันที่ทรงพลัง


 
การลงทุนในตลาดหุ้นนั้นต้องวิเคราะห์ทั้งตัวเลขผลการดำเนินการของบริษัท และสภาพการแข่งขันของบริษัท เราจึงต้องแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณซึ่งการวิเคราะห์ทั้ง2 สิ่งจะต้องทำควบคู่กันไป

การวิเคราะห์เชิงคุณภาพนั้น ผมคิดว่า Five forces model ถือว่าเรียบง่ายและมีประสิทธิภาพมากสุด Michael E. Porter เขาว่าปัจจัยที่กำหนดสภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมประกอบด้วย 5 ปัจจัยดังนี้

five corce model

การเข้ามาของคู่แข่งเข้ามาในอุตสาหกรรม
ปัจจัยแรกคือ เราต้องดูว่าธุรกิจที่บริษัททำอยู่มีคู่แข่งเข้ามาในอุตสาหกรรมเรายากไหม

ถ้าธุรกิจที่บริษัททำอยู่สามารถมีรายใหม่เข้ามาได้ง่าย ก็ถือว่าเป็นปัจจัยทางธุรกิจที่ไม่ดีนักของบริษัท อย่างเช่น หุ้นนำเข้าถ่านหินที่ในอดีตเคยมี Gross Margin สูงถึง 30% ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่ธุรกิจนี้ไม่ได้ใช้เงินลงทุนสูงมาก และไม่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางอะไรมากนักเมื่อกำไรดี จึงทำให้มีบริษัทอื่นๆหันมานำเข้าถ่านหินมากขึ้น และทำให้กำไรของบริษัทที่เคยทำได้สูงก็ต้องลดลง เนื่องจากมีคู่แข่งเข้ามาเยอะขึ้น ธุรกิจที่มี Gross Margin สูง แต่ผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาได้ไม่ยาก หุ้นแบบนี้เป็นหุ้นที่เหมาะกับการเก็งกำไรมากกว่าลงทุนยาว
เพราะในช่วงที่คู่แข่งยังไม่เข้ามาบริษัทก็สามารถที่จะ enjoy กับกำไรสูงๆได้ซักพัก แต่ถ้าถือนานๆ พอคู่แข่งเข้ามา แม้รายได้บริษัทจะโตแต่กำไรก็ลดลง ทำให้ wealth ของผู้ถือหุ้นไม่เพิ่มขึ้นในระยะยาว และอีกหนึ่งตัวอย่างก็คือ ธุรกิจอย่างโรงกลั่นและปิโตรเคมี ก็เป็นธุรกิจที่คู่แข่งเข้ามาได้ง่าย การเข้ามายากหรือง่ายนั้น เงินลงทุนที่สูงเป็นปัจจัยที่ไม่สำคัญนัก เพราะบริษัทใหญ่ๆเงินระดับหมื่นล้านก็ไม่ใช่จำนวนที่มากเกินไป ถ้า spread ปิโตรเคมีอยู่ในระดับสูง ใครๆก็อยากสร้างโรงงาน เพราะคืนทุนเร็ว แต่ถ้าใครๆที่มีเงินก็สร้างได้ พอ Spread สูงทุกคนก็แห่กันเข้ามา


พอถึงเวลานั้นราคาสินค้าก็จะตกเพราะว่าคนแย่งกันขายของทำให้ผู้ถือหุ้นปิโตรเคมีหรือโรงกลั่นมักมีช่วงเวลา Honeymoon period ที่สั้น แตกต่างจากธุรกิจขุดเจาะน้ำมันที่ไม่ใช้ใครที่มีเงินก็ทำได้ เพราะประเทศต่างๆถือว่า น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นสมบัติของประเทศ ต้องมีการประมูล ต้องมีสัมปทาน ไม่ใช้ใครมีเงินอยากทำก็ทำได้ สิ่งนี้ทำให้กำไรของหุ้นขุดเจาะน้ำมันที่เป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) สูงถึง 30% ต่อเนื่องได้หลายปี ซึ่งถือว่าสูงมากๆ ปกติ Gross Margin (กำไรขั้นต้น) 30% ก็สูงแล้ว แต่นี้หักภาษีดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายแล้วยังเหลือกำไรถึง 30% และเป็นตัวเลขที่ทำได้ต่อเนื่องยาวนานด้วย เราจะไม่พบอัตรากำไรที่สูงขนาดนี้ในหุ้นปิโตร และโรงกลั่นเลย


ถ้าคุณอ่านงบการเงินทุกวัน คุณจะเริ่มรู้ว่าบริษัทลักษณะไหนมีคุณค่าสูง ผ่านตัวเลขงบการเงิน ในอีกมุมนึงก็คือ ถ้าหุ้นมีความสามารถในการทำกำไรสูงๆต่อเนื่อง นั้นก็สะท้อนได้ว่าธุรกิจนั้นต้องมีกำแพงบางอย่างขวางอยู่ ไม่ให้ผู้เล่นรายใหม่ๆเข้ามาได้ง่ายๆ การที่นักลงทุนดูงบของบริษัท และดูปัจจัยเชิงคุณภาพของบริษัทควบคู่กันไปด้วย จะดีกว่าดูอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะถ้านักลงทุนรู้ว่าอัตรากำไรที่สูงของบริษัทมีแนวโน้มจะรักษาระดับได้นานหรือไม่ จะทำให้นักลงทุนกำหนดกลยุทธ์การลงทุนระยะว่าจะนานหรือสั้น และรู้ว่าควรให้ PE สูงหรือต่ำ ก็ควรดูทั้งปัจจัยเชิงคุณภาพและปริมาณด้วยครับ


อำนาจต่อรองของลูกค้า
ปัจจัยที่สอง อำนาจต่อรองของลูกค้า เช่นบริษัทรับจ้างผลิต ถ้าบริษัทมีขนาดเล็กกว่าลูกค้าค่อนข้างมาก บริษัทมักจะไม่สามารถมี Gross Margin ที่สูงได้ เนื่องจากถ้าลูกค้าสั่ง Order เพิ่มก็จะต่อรองบริษัทช่วยลดราคาให้ ทำให้แม้มีรายได้เพิ่ม แต่ความสามารถในการทำกำไรมักจะไม่สูงขึ้น หุ้นของบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ เนื่องจากลูกค้าคือ ยี่ห้อรถต่างๆ ทีมีขนาดใหญ่กว่าบริษัทผลิตชิ้นส่วนมาก สมัยก่อนเคยมีหุ้นผลิตพัดลมอยู่ตัวนึง มีลูกค้าเพียงรายเดียว กรณีนี้ลูกค้าจะมีอำนาจต่อรองสูงมาก ต่อมาบริษัทเสียลูกค้ารายนี้ไป

คนถือหุ้นเจ็บช้ำจนน้ำใบบัวบกก็ไม่สามารถช่วยได้ หรืออย่างหุ้นของบริษัทอิเล็กทรอนิกที่ออกแบบ ผลิต ประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกแห่งนึง เมื่อ 4-5 ปีก่อน ที่ลูกค้าของบริษัท 5 บริษัทถูก Take Over และคนที่มา Take Over ไปก็ยกเลิกการสั่งสินค้ากับบริษัท เนื่องจากลูกค้า 5 รายที่โดน Take Over ไปมียอดสั่งซื้อของรวมกันเป็น % ที่มีนัยยะกับบริษัทจึงทำให้กำไรของบริษัทหายไปเยอะมาก บริษัทที่มีลูกค้าไม่กี่ราย ที่มีการซื้อของเป็นสัดส่วนที่เยอะ ถ้าวันไหนระเบิดเวลาเกิดระเบิดขึ้นมา (ลูกค้ายกเลิกคำสั่ง) ก็ตัวใครตัวมันละครับงานนี้ บริษัทที่ขายสินค้าอุปโภค บริโภค ที่คนจำนวนมากต้องซื้อ จะเป็นบริษัทที่ลูกค้าไม่มีอำนาจต่อรองกับบริษัทเลย เพราะลูกค้าแต่ละรายแทบไม่มีผลต่อยอดขาย และถ้าบริษัทเหล่านั้น สามารถปรับราคาขึ้น เมื่อเกิดเงินเฟ้อได้ด้วยละก็ ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ หุ้นที่เข้าข่ายลักษณะนี้ เช่นค้าปลีก โรงพยาบาล จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่หุ้นเหล่านี้มักจะมี P/E สูงกว่า หุ้นยานยนต์ และอิเล็กทรอนิก


อำนาจต่อรองของ Supplier
ปัจจัยที่สามคือ อำนาจต่อรองของ Supplier
บริษัทค้าปลีกเป็นตัวอย่างที่ดีของธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองที่สูง เนื่องจากการที่มีสาขาทั่วประเทศทำให้ ถ้าของๆใครได้ขายผ่านช่องทางของค้าปลีกเหล่านี้ ก็จะสามารถขายของได้ทั่วประเทศ ดังนั้นใครๆก็อยากให้ของๆตัวเองขายในร้านค้าปลีกเหล่านี้ ดังนั้นอำนาจต่อรองของบริษัทค้าปลีกจึงสูงมาก
วิธีในการดูว่าบริษัทมีความเสี่ยงจาก Supplier ไหม คือต้องดูว่ามีคนที่สามารถป้อนวัตถุดิบให้กับบริษัทมากไหม ธุรกิจบางอย่างอาจต้องพึ่งพา วัตถุดิบบางอย่างซึ่งมีคนผลิตน้อย ทำให้บริษัทที่ขายมีอำนาจต่อรองสูงกับบริษัท


สภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรม
ปัจจัยที่สี่คือ สภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมรุนแรงไหม
ถ้าอุตสาหกรรมนั้นเติบโตเยอะ ผู้เล่นทุกคนที่มี Market Share เท่าเดิมก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้น แต่เมื่ออุตสาหกรรมหยุดโต ผู้เล่นที่อยากโตต่อ ก็ต้องหันมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากเจ้าอื่น กลยุทธ์ที่นิยมใช้คือการตัดราคา อย่างเช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเวลาที่ตลาดโตมากๆเมื่อ 10 ปีก่อน เพราะมือถือราคาถูกลง มีการชำระเงินแบบ Pre-Paid ที่มีการเติมเงินค่อนข้างถูกทำให้มีจำนวนคนที่เข้าถึงโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมากเช่นกลุ่มนักศึกษาและผู้ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรที่เติบโตรวดเร็ว แต่เมื่อจำนวนคนใช้โทรศัพท์มือถือเริ่มอิ่มตัว เพราะใช้กันทั้งประเทศแล้ว ก็เริ่มมีผู้ประกอบการลดราคาค่าโทรจนเหลือ นาทีละ 0.25 สตางค์ ก็ยังเคยมี จากตอนที่ลูกค้าเพิ่มเยอะๆ เคยคิดค่าโทรนาทีละ 5 บาทด้วย (สมัยผมเป็นวัยรุ่นโทรจีบสาว รู้สึกเปลืองตังค์มาก ซื้อบัตรมาขูดแป็บเดียว ชวนไปเดทยังไม่ทันได้ ก็โดนตัดสายเพราะเงินหมด) นอกจากการเติบโดของอุตสาหกรรมแล้วยังต้องดูความแข็งแกร่งของคู่แข่ง ถ้าแต่ละรายมีขนาดใกล้เคียงกัน ต้นทุนก็ย่อมใกล้เคียงกัน ถ้าแข่งกันลดราคาก็น่าจะเจ็บหนักกันหมด แต้ถ้าบริษัทไหนมีขนาดใหญ่กว่ามากก็จะทำให้มีต้นทุนต่ำกว่า รายเล็กๆที่คิดจะสู้ด้วยก็ไม่มีอำนาจพอ อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ชาเขียวเมื่อหลายปีก่อนก็มีหลายยี่ห้อ และมีบางช่วงมีหลายใหม่ๆ เข้ามาเยอะมากและตัดราคาเจ้าตลาดชาเขียว แต่เนื่องจากเจ้าตลาดมี Market Share ที่สูงมาก และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ติดใจในรสชาติชาเขียวของเจ้าตลาด จึงทำให้บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก


ปัจจัยของสินค้าทดแทน
ปัจจัยที่ห้าคือ ปัจจัยของสินค้าทดแทน
ถ้าสินค้าที่บริษัททำอยู่มีโอกาสที่ผู้บริโภคจะใช้น้อยลง เพราะมีสินค้าอย่างอื่นมาทดแทนไหม เช่น ทุกวันนี้คนเข้าถึง Internet มากขึ้น ทำให้การซื้อหนังสือพิมพ์ลดลง อย่างผมถามเพื่อนว่าได้อ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจแห่งหนึ่งตอนเช้าหรือยัง มีสัมภาษณ์เซียนหุ้นด้วย เพื่อนผมก็ตอบว่าเขาอ่านทาง Internet แทน ไม่ได้ซื้อหนังสือพิมพ์ จริงๆแล้วหลายคนมากที่เป็นแบบนี้ เท่าที่ผมเจอคนที่รับหนังสือพิมพ์ตลอดเป็นคนรุ่นเก่าที่ไม่ค่อยได้ใช้ Internet ส่วนคนรุ่นใหม่บางส่วนก็รับหนังสือพิมพ์ บางส่วนก็ดูทางเน็ตแทน แบบนี้ยิ่งนานไปคนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ การซื้อหนังสือพิมพ์ก็อาจน้อยลง แบบนี้การอ่านข่าวใน Internet มากขึ้นก็เปรียบเหมือนสินค้าทดแทนอย่างนึงนั้นเอง
หรืออย่างขวดใส่น้ำช่วงหลังๆ คนนิยมขวดแบบ PET มากกว่าขวดแก้วเนื่องจากน้ำหนักเบา พกพาสะดวก ธุรกิจอะไรที่มีรายได้เกี่ยวกับขวดแก้วก็มีรายได้น้อยลง ธุรกิจประเภทเทคโนโลยีนั้นมักจะมีความเสี่ยงจากสินค้าทดแทนใหม่ๆ มากที่สุด เคยใช้เครื่องพิมพ์ดีด ก็หันมาใช้คอมพิวเตอร์แทน เคยใช้เพจเจอร์ก็หันมาใช้มือถือแทน ใช้เครื่องเล่นวีดีโอที่เป็นตลับก็หันมาใช้เครื่องเล่น VCD, DVD แทน ใช้โทรศัพท์มือถือธรรมดาก็กลายเป็นนิยมใช้ Smart Phone แทน ดังนั้นธุรกิจไหนที่มียอดขายเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากๆ ก็จะมีความเสี่ยงรายได้หาย เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม เราจำเป็นต้องรู้ว่าหุ้นที่เราลงทุนนั้น ขายสินค้าอะไร และควรติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภคว่ามีแนวโน้มจะบริโภคเพิ่มขึ้นหรือลดลง เราสามารถโยงความสัมพันธ์ของหุ้นเทคโนโลยีกับงบกระแสเงินสดจากการลงทุนได้ด้วย เนื่องจากหุ้นที่ผลิตสินค้าที่ความต้องการผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงบ่อย การจะต้องลงทุนเครื่องจักรใหม่ๆ เพื่อให้เข้ากับสินค้าใหม่ๆตลอดเวลา ทำให้เงินเหลือมาปันผลน้อย เพราะต้องลงทุนหนักตลอดเวลา ในทางกลับกันนอกจากต้องระวังถ้าสินค้าของหุ้นที่เราลงทุนจะถูกสินค้าอื่นทดแทน เราควรลงทุนในหุ้นที่สินค้าของบริษัทไปทดแทนสินค้าอื่นๆแทนด้วย แบบนี้ก็จะยิ่งดีใหญ่ อย่างหุ้นนำเข้าถ่านหินเพื่อขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อหลายปีก่อนโตเร็วมาก เพราะราคาน้ำมันเตาสูง ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเปลี่ยนหม้อไอน้ำจากใช้น้ำมันเตาเป็นใช้ถ่านหินแทน ทำให้หุ้นตัวนี้มีกำไรโตมาก เพราะสินค้าบริษัทไปทดแทนสินค้าอื่น แต่เนื่องจากธุรกิจนี้มีการเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ง่าย จึงทำให้บริษัทมี Gross Margin ที่ตกลงในที่สุด

หรืออุตสาหกรรมค้าปลีกที่ขยายสาขาต่อเนื่อง ก็ถือว่าทดแทนร้านโชว์ห่วยแบบเดิมๆ เนื่องจากสินค้าที่หลากหลายเดินเข้าไปในร้าน ก็มีหนังสือขาย มี VCD DVD ขาย มีอาหารกล่องขาย ซึ่งทำให้คนชอบเข้าร้านสะดวกซื้อมากกว่าร้านโชว์ห่วยแบบเดิมๆ เราจะเห็นได้ว่า ธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจที่มี Five Forces Model ที่เยี่ยมมาก ไม่ว่าจะเป็นอำนาจต่อรองกับ Supplier หรือลูกค้า ก็ถือว่าอยู่ในจุดที่ปลอดภัย ธุรกิจค้าปลีกขายของอุปโภค บริโภค ที่เป็นสิ่งจำเป็น จึงไม่มีสินค้าใดๆมาทดแทน ธุรกิจค้าปลีกที่เข้าไปจับจองพื้นที่ได้ก่อนจะเป็นกำแพงป้องกันคู่แข่งรายใหม่ๆที่เข้ามาที่หลังจะเสียเปรียบ ธุรกิจค้าปลีกไม่ค่อยมีการแข่งขันทางราคาอย่างดุเดือดเท่าไหร่ ดูเหมือนตลาดก็มองเรื่องนี้ออก P/E ของหุ้นค้าปลีกจึงค่อนข้างสูง เมื่อหลายปีก่อนตอนหุ้นค้าปลีก P/E ต่ำๆ เซียนหุ้นหลายคนมองออก ก็ซื้อหุ้นเก็บเอาไว้ ส่วนคนที่สนใจหุ้นค้าปลีกในตอนนี้ ก็ต้องเปรียบเทียบเองว่าราคาแพงไปหรือยัง หรือว่ายังต่ำกว่ามูลค่า เนื่องจากธุรกิจดีแต่ถ้าราคาแพงเกินไปก็ไม่น่าลงทุน

Five Forces Model เป็น Model ที่สำคัญมากๆในการวิเคราะห์คุณภาพของธุรกิจ นักลงทุนควรมองให้ออกว่าบริษัทที่สนใจลงทุน มีสถานะอย่างไรตาม Model Five Forces และดูควบคู่ไปกับตัวเลขทางการเงิน จึงจะทำให้วิเคราะห์หุ้นอย่างรอบด้านจริงๆ
 
Five Forces model

พี่ใช้หลักอะไรในการเลือกหุ้นซักตัวครับ?


พี่ใช้หลักอะไรในการเลือกหุ้นซักตัวครับ? : คเชนทร์ เบญจกุล (Invisible Hand)

- สมัยก่อนผมจะดูความถูกแพงของหุ้นก่อน เช่น p/e และ p/bv แล้วค่อยมาดูชื่อบริษัทว่าทำอะไร อยู่ในธุรกิจอะไร ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนมาดูประเภทธุรกิจ ชื่อบริษัทก่อน แล้วค่อยมาดูความถูกแพงครับ ก็คือระยะหลังๆผมจะให้น้ำหนักปัจจัยด้านคุณภาพมากกว่าปัจจัยด้านปริมาณ

ปัจจัยคุณภาพที่ผมดู ก็มีหลายอย่างครับ เช่น

1. ธุรกิจที่บริษัทนั้นๆทำอยู่

ก็คงดูการลักษณะของธุรกิจและการเติบโตในระยะยาวๆ หลักๆผมจะดูว่า ตลาดหรือธุรกิจนั้นๆ อยู่ในระยะไหนของการเติบโต โตเร็ว ปานกลาง หรือช้า หรือถดถอย ยกตัวอย่าง หากผมมองว่าการอ่านหนังสือ หรือการใช้คอมพิวเตอร์ของคนไทยยังต่ำและโตได้อีกมาก ผมก็จะเริ่มมองหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ และหากผมมองว่าแนวโน้มคนจะนิยมซื้อสินค้าที่เป็นร้าน modern trade มากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็มาดูหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ modern trade บางครั้งก็จับทั้งคู่มาผสมกันได้ เช่น อาจจะดูหุ้นที่เป็น modern trade ที่ทำธุรกิจ IT หรือ modern trade ที่ขายหนังสือ หรือผมมองว่า อนาคตประชากรจะป่วยง่ายแต่ตายช้าลง เพราะคนเราทำงานหนักขึ้นเครียดขึ้น เป็นโรคต่างๆกันมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน แต่คุณภาพการรักษาพยาบาลดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยแม้ไม่หายขาดแต่ก็จะยืดอายุได้นาน อีกทั้งแนวโน้มคนแก่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่ากลุ่ม รพ. น่าสนใจ หรือผมมองว่า คนไทยยังทำประกันชีวิตในสัดส่วนน้อย ผมก็จะมองว่าหุ้นที่ทำประกันชีวิตน่าสนใจ

ธุรกิจไหนที่อยู่ติดกับลูกค้ารายย่อยๆจำนวนมาก ก็จะมีอำนาจการต่อรองสูงกว่า และหากรับค่าสินค้าและบริการเป็นเงินสด ก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมากๆในยุคปัจจุบันครับ

ส่วนระยะเวลาหรือ time frame ที่ผมมองระยะหลังๆ ผมจะมองไป 5-10 ปีเลย เพราะผมเชื่อว่าหุ้นดีราคาถูกเริ่มหายาก ดังนั้นเราควรหาหุ้นที่จะถือได้ยาวๆเลย จะได้ไม่ต้องคอยหาหุ้นใหม่ๆ

กลุ่มที่ผมคิดว่าไม่น่าสนใจก็มี เช่น หุ้นที่ผมมองว่าอำนาจการต่อรองมักจะเป็นของผู้ซื้อ ซึ่งมักจะเป็นผู้ซื้อที่มีขนาดบริษัทที่ใหญ่กว่าผู้ขาย เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ หรือบรรจุภัณฑ์ ผมมองว่าหุ้นเหล่านี้มีอำนาจต่อรองต่ำ และเวลาขายต้องให้เครดิตลูกค้านานๆ ทำให้กระแสเงินสดไม่ดีและเสี่ยงกับหนี้สูญ ระยะหลังๆผมจะไม่สนใจหุ้นกลุ่มดังกล่าว

2. สถานภาพการแข่งขันของบริษัทนั้นๆในธุรกิจ

ผมมักจะเลือกหุ้นที่มี market share อันดับต้นๆ หากไม่ได้เป็นอันดับต้นๆของตลาดรวม ก็ควรจะเป็นอันดับต้นๆใน segment ที่ตนเองอยู่ เพราะตลาดๆหนึ่งก็สามารถแบ่งได้เป็นหลายๆ segment เพราะการเป็นผู้นำตลาดย่อมพิสูจน์ได้ว่าผู้บริหารน่าจะมีความสามารถเพียงพอ ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้การเป็นผู้นำตลาด ย่อมทำให้บริษัทนั้นๆมีอำนาจต่อรองกับลูกค้าและ supplier ที่สูงกว่า และมักจะแสดงถึง brand name ที่แข็งแกร่งกว่า

อย่างไรก็ตามให้ระวังเรื่อง mkt share หากมากเกินไปอาจจะจำกัดการเติบโตได้ เช่น หากตลาดโตน้อย คือปีละ 5% และหุ้นที่เราดูมี mkt share 60% ก็หมายความว่าหุ้นตัวนั้นมีการเติบโตจำกัด เพราะการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากกว่านี้อีกได้ไม่เท่าไหร่ และมีโอกาสที่เสีย mkt share หากมีการแข่งขันมากขึ้น แต่หาก mkt share 60% แต่ตลาดโตสูงมาก เช่น 20-30% หุ้นดังกล่าวจะกลายเป็นตรงกันข้ามคือเป็นหุ้นที่น่าสนใจมาก เพราะการมี mkt share สูงมากทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก ดังนั้นแค่โตตามตลาดก็เพียงพอแล้ว

3. ดูความยากง่ายของการเข้ามาทำธุรกิจ

บางจุดเวลา เราอาจจะเจอหุ้นที่ผ่านลักษณะที่ 1 และ 2 ในเวลาเดียวกัน แต่บังเอิญธุรกิจดังกล่าวมีการเข้ามาแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหม่ได้ง่าย ก็จะทำให้ธุรกิจนั้นๆแทบจะไม่เหลือความน่าสนใจเลย เพราะการที่ผู้ประกอบการเข้ามาใหม่ได้ง่าย ทำให้แม้ว่าธุรกิจนั้นๆจะมีแนวโน้มการเติบโตสูง แต่พอการแข่งขัน เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ประกอบการรายเดิมลดลง และการแข่งขันที่รุนแรงมักจะทำให้ margin ของธุรกิจลดลงด้วย ดังนั้น หุ้นที่ผ่านลักษณะที่ 1 และ 2 แต่ไม่ผ่าน 3 ก็อาจจะต้องเป็นหุ้นระยะสั้นถึงกลางๆมากกว่าระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น LH ผ่านข้อ 1 และ 2 แต่ไม่ผ่าน 3 ดังนั้นถึงจุดหนึ่งหุ้น LH จะเริ่มไม่ perform ดังเช่นเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น หากเราเจอหุ้นที่ธุรกิจมีการเติบโตสูง และมี gross margin สูงมาก และรู้สึกว่าคู่แข่งเข้ามาได้ไม่ยาก ให้ระวังว่าหุ้นเหล่านี้จะเป็นหุ้นที่จะมีกำไรลดลงได้มากในปีต่อๆไป ยกตัวอย่างเช่นหุ้น GMMM และหุ้น Q-CON โดยเฉพาะหุ้น GMMM เป็นหุ้นที่สอนให้ผมถึงบทเรียนดังกล่าว เพราะธุรกิจวิทยุมี GMMM เป็นผู้นำตลาด แต่พอรายใหม่ๆเข้ามาแข่งขันก็ทำให้ตลาดเป็นการแข่งขันสูง และ margin ลดลงอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น การที่จะดูว่าธุรกิจไหนมีการเข้าใหม่ยากง่ายแค่ไหน เราคงจะต้องดูจากตัวเราเอง คือลองสมมุติให้เรามีเงินที่มากพอ แล้วให้ลองศึกษาดูว่าการทำธุรกิจที่เราสนใจนั้นๆยากง่ายแค่ไหน ทั้งในด้านการหาพนักงาน การหาเทคโนโลยีการผลิต การสร้าง brand การหาลูกค้า ฯลฯ ถ้ารู้สึกว่าไม่ยากเกินไป หุ้นที่เราดูอยู่อาจจะไม่น่าสนใจเท่าไรนักครับ

4. ธุรกิจที่ลงทุนควรจะเป็นธุรกิจที่จับต้องได้ง่าย อยู่ในชีวิตประจำวัน

ผมเชื่อว่าหากเราซื้อหุ้นที่มีสินค้าและบริการที่อยู่ในชีวิตประจำวันของ เรานั้น ทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากในการติดตามหาข้อมูลครับ เพราะมันจะอยู่รอบๆตัวเราหมดเลย ดังนั้น เราสามารถรับรู้ว่าบริษัทที่เราลงทุนมีแนวโน้มดีหรือแย่ได้จากการสังเกตใน ชีวิตประจำวันของเรา ผมเชื่อว่าสมัยก่อนตอนที่ VI ยังไม่ boom การรองบออกแล้วค่อยตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นตัวหนึ่งๆ น่าจะยังเป็นสิ่งที่ไม่ช้าเกินไป แต่ปัจจุบันผมเชื่อว่าเราควรจะซื้อหุ้นที่คาดว่างบจะออกมาดี และขายหากคิดว่างบจะออกมาไม่ดี ดังนั้นหากเป็นธุรกิจที่จับต้องยาก เราจะรู้ว่างบดีหรือไม่ดีพร้อมกับคนอื่นๆ คือวันที่ประกาศงบออกมา ซึ่งผมคิดว่าไม่เพียงพอแล้วสำหรับการลงทุนแบบปัจจุบันที่มี VI อยู่จำนวนมากมาย

5. ผู้บริหาร

ที่คุยมา 4 ข้อหากข้อ 5ไม่ผ่านก็โยนสิ่งที่เราศึกษามานั้นทิ้งไปเลยครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าผู้บริหารบริษัทที่ต้องมีคุณธรรม จริยธรรมสูงส่งเพราะบางทีก็หายากเหมือนกัน และคนที่พยายามจะหาผู้บริหารหรือผู้นำที่เป็นเช่นนั้นผมว่าก็อาจจะทำให้เกิด ความทุกข์เช่นกัน ผมชอบผู้บริหารที่เข้าใจกลไกตลาดทุน ก็คือ หากบริษัทกำไรดีขึ้น ราคาหุ้นก็จะขึ้น ผู้บริหารก็จะได้ประโยชน์จากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นเช่นกันเพราะทำให้มูลค่าใน ส่วนที่ตนเองถือหุ้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน หรือหากถือหุ้นน้อยหรือไม่ถือหุ้นก็น่าจะมีโบนัสหรือได้ขึ้นเงินเดือน ดังนั้นผู้บริหารที่ดีในสายตาผม ก็คือผู้บริหารที่พยายาม maximize shareholder value ก็คือพยายามที่จะสร้างมูลค่าที่สูงที่สุดให้กับหุ้นตัวเอง แต่มีข้อแม้ว่าจะไม่เบียดบังสังคมเกินไป เช่น หากมีประวัติปล่อยน้ำเสีย ของเสีย หรือเอาเปรียบแรงงาน ผมก็คงไม่ลงทุนครับ

หากผู้บริหารโดยเฉพาะผู้บริหารที่เป็นเจ้าของ เข้าใจเรื่องตลาดทุน จะเข้าใจว่าการปล่อยให้กำไรอยู่ในบริษัท เมื่อมีกำไรเพิ่มขึ้น 100 ล้าน หากหุ้นดังกล่าวมี p/e 10 เท่า มูลค่าหุ้นก็จะเพิ่ม 1000 ล้าน หากผู้บริหารถือหุ้น 30% ก็เท่ากับว่าจะรวยขึ้น 300 ล้าน แต่หากเทียบกับว่าผู้บริหารดังกล่าวนำเงินออกจากบริษัทไป 100 ล้านเข้ากระเป๋าตัวเอง เค้าจะได้เงินไปแค่ 100 ล้านเท่านั้น

ดังนั้น ผมจะตัดบริษัทที่ผู้บริหารมีประวัติไม่ดี และบริษัทที่เคยมีรายการระหว่างกันที่เป็นการผ่องถ่ายเงินจากบริษัทจด ทะเบียนเข้าส่วนตัว หรือเข้าบริษัทที่ผู้บริหารมีส่วนได้ส่วนเสียครับ

ส่วนข้อมูลดังกล่าวอาจจะถามว่าผมหามาได้ยังไง คำตอบคือ ก็คงต้องใช้การอ่านหนังสือพิมพ์มากๆ และสะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆครับ ในระยะแรกๆที่ผมประสบการณ์น้อย ผมจะไปศูนย์ข้อมูลมติชน อยู่ที่ บ. มติชน ประชานิเวศน์ ครับ ไปขอค้นข่าวเกี่ยวกับบริษัทที่ผมสนใจย้อนหลัง 10 ปีเพื่อดูว่าผู้บริหารเคยให้สัมภาษณ์หรือเคยให้ข่าวอะไรบ้าง รวมทั้งบริษัทนั้นๆ เคยมีประวัติอะไรไม่ดีหรือไม่ครับ ก็ถือว่าสะดวกดีครับ เสียค่าค้นไม่กี่บาทครับหากเทียบกับกำไรหรือขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นครับ

เมื่อใช้การกรองหุ้นข้อ 1-5 ออกมาแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะลงทุนได้ทันทีนะครับ เพราะมันเป็นการกรองหุ้นจำนวนหนึ่งออกมา สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ การวิเคราะห์เชิงลึก สิ่งที่ควรทำก็คือการอ่าน 56-1 รายงานประจำปี และเริ่มหาข้อมูลในด้านต่างๆของบริษัท โดยการสำรวจ ลองใช้สินค้าและบริการของหุ้นที่เราสนใจ รวมไปถึงใช้ของคู่แข่งด้วยเพื่อเปรียบเทียบ นอกจากนี้ ยังต้องหาข้อมูลอื่นๆอีกมาก เช่น ถามความเห็นของเพื่อนหรือคนที่ใช้สินค้าและบริการทั้งของหุ้นที่เราสนใจและ คู่แข่ง นอกจากนี้หากเป็นไปได้ ควรจะถามความเห็นของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ถ้าสามารถหาได้ เช่น พนักงาน คู่แข่ง supplier ลูกค้า โดยข้อมูลต่างๆที่ได้รับ ก็เพื่อนำมาสรุปว่าปัจจุบันบริษัทมีความได้เปรียบเสียเปรียบกับคู่แข่งอย่าง ไร และเพื่อให้พอมองแนวโน้มในอนาคตได้

ส่วนที่จะดูว่าหุ้นตัวไหนถูกหรือแพง คงจะดูหลายๆประเด็นประกอบกัน คงจะดูเพียง p/e p/bv อย่างใดอย่างหนึ่งหรือแค่ทั้งสองอย่างคงไม่ได้ หุ้น TTA ที่ถามถึงมานั้น เป็นหุ้นวัฎจักร หรือ cyclical ซึ่งจะมี p/e ต่ำมากในช่วง peak ของ cycle และจะมี p/e สูงมากในช่วง bottom หรือหา p/e ไม่ได้เลยเพราะบางช่วงตอน bottom จะขาดทุน ดังนั้น หุ้นวัฎจักร จะซื้อโดยดู p/e ไม่ได้เลย แต่จะต้องดูแนวโน้มของวัฎจักรว่าตอนนี้น่าจะอยู่ช่วงไหนของ cycle แล้ว เราจะต้องซื้อที่ใกล้เคียงกับ bottom และขายในช่วงขาขึ้น ดังนั้น หากเราลงทุนในหุ้นวัฎจักร จะต้องศึกษาและเข้าใจในธุรกิจนั้นอย่างถ่องแท้ ซึ่งมีคนจำนวนน้อยที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น สำหรับนักลงทุนทั่วไปผมไม่ค่อยแนะนำให้ลงทุนในหุ้นวัฎจักร เพราะจะมีความเสี่ยงมากและมีโอกาสสูงที่จะเข้าไปซื้อช่วง peak ซึ่ง broker จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าใจหุ้นวัฎจักรอย่างแท้จริง และอาจจะให้คำแนะนำที่เป็นอันตรายกับนักลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีความรู้มากพอแล้ว การลงทุนในหุ้นวัฎจักร หากประสบความสำเร็จก็จะทำให้มีผลตอบแทนที่มากพอกับความพยายามที่ลงไปได้เช่น กัน

ส่วนการใช้ DCF นั้น ผมคิดว่าไม่จำเป็นเท่าไหร่สำหรับนักลงทุนทั่วไปครับ เพราะจริงๆแล้ว p/e คือผลสุดท้ายของ DCF นั่นแหละครับ เพราะ DCF เป็น model ที่คำนึงถึง growth ความเสี่ยง เงินสดและหนี้สิน ซึ่งหากเราใช้ p/e เป็น ใช้ p/bv ได้ถูกวิธี มันจะเป็นสุดยอดวิชาขั้นสูงกว่าการใช้ DCF อีกครับ เพราะมันเป็นการนำหลักแนวคิดของ DCF มาใช้ได้โดยไม่ต้องเหนื่อยมานั่งทำ model

อย่างท่านอาจารย์ ดร. นิเวศน์ เอง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ DCF ในการคำนวณนะครับ มันเหมือนกับอะไรที่ back to basic ครับ บางครั้ง อะไรที่ซับซ้อนมากๆ กลับไม่ใช่สุดยอดวิชา แต่สิ่งที่เป็นสุดยอดวิชา มักจะไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด

DCF มีข้อเสียยังไง ข้อเสียคือ เนื่องจากมันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการคำนวณหา valuation ของหุ้น แต่หากนำไปใช้โดยขาดความเข้าใจที่แท้จริง ซึ่งผมเองก็เคยเป็นอย่างนั้นเมื่อก่อน จะทำให้ได้ valuation ที่ผิดพลาดไปมาก โดยเฉพาะการนำ dcf ไปใช้กับหุ้นที่เป็นวัฎจักร ทั้งวัฎจักรเศรษฐกิจ และวัฎจักรที่เป็น commodity ผลเสียที่เกิดจะรุนแรง เพราะคนที่วิเคราะห์โดยใช้ DCF ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิเคราะห์ มักจะเชื่อมั่นในตัวเองสูงอยู่แล้ว และมักจะมี financial model ที่ซับซ้อน ดังนั้นหากได้ DCF target จากการวิเคราะห์ของตนแล้วมักจะยึดมั่นอย่างสูง และผู้ที่ฟังคำแนะนำก็จะเชื่อมั่นอย่างสูงเช่นกัน เพราะโดยหลักการแล้วเป็นวิธีที่ดีกว่า p/e และ p/bv ดังนั้น DCF valuationได้ทำให้นักวิเคราะห์และคนที่ใช้บทวิเคราะห์เจ็บปวดมาครั้งแล้ว ครั้งเล่าครับ

พี่ใช้หลักอะไรในการเลือกหุ้นซักตัวครับ?

คเชนทร์ เบญจกุล (Invisible Hand) 

การวิเคราะห์หุ้น บทความที่ดีที่สุด


บทความที่ดีที่สุดบทความนึงของอาจารย์ตลอดกาลของผมครับ
เรื่องการประเมินราคาที่เหมาะสมของหุ้นนั้นผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ยาก และราคาที่เหมาะสมของหุ้นนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป และสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น หุ้นตัวหนึ่งมี eps 1 บาท และมี p/e ที่เหมาะสมคือ 15 เท่า ในปีนี้ราคาที่เหมาะสมคือ 15 บาท แต่หุ้นตัวนี้มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ราคาที่เหมาะสมในปีหน้าก็จะเพิ่มเป็น 1.2*15 คือ 18 บาท
นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ราคาเหมาะสมอาจจะเปลี่ยนแปลงคือ สภาพแวดล้อมต่างๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวบริษัทเองที่อาจจะทำให้การเพิ่มขึ้นของกำไร เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง กว่าที่คาดไว้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกำไรที่คาดหวัง จะมีส่วนทำให้ p/e ของหุ้นต่ำลงหรือสูงขึ้นด้วย ดังนั้นหาก eps growth ลด ก็ทำให้ eps ในปีต่อไปลดจากที่คาดไว้ และ p/e ที่เหมาะสมหรือ p/e ที่ตลาดจะให้กับหุ้นตัวนั้นๆ ลดลงด้วย เป็น 2 เด้ง ในทางกลับกันก็เช่นกัน ดังนั้นเราอาจจะเห็นว่าตลาด เปลี่ยนแปลงราคาที่เหมาะสมสำหรับหุ้นตัวนั้นได้เร็วและรุนแรงพอสมควรครับ เช่น หุ้น MINT เคยได้ p/e 10-15 เท่า เพราะตลาดคาดว่าหุ้นตัวนี้จะโตได้ปีละ 10-15% แต่เมื่อ mint สามารถเติบโตในปีก่อนได้เ 40% ก็กลายเป็นว่าตลาดก็ให้ p/e ของmint สูงถึง 20-25 เท่า ดังนั้น หากเรายึดติดกับว่า mint ไม่ควรมี p/e เกิน 15 เท่าก็กลายเป็นว่าอาจจะขายหุ้น mint ก่อนเวลาอันควรก็เป็นได้
หรือ หุ้น amata ในปี 44-45 เคยมี p/e เพียง 4-6 เท่า แต่ปัจจุบัน มี p/e 15-20 เท่า ดังนั้น ความคาดหวังของนักลงทุน ณ เวลาที่ต่างกัน สถานการณ์ต่างกัน ก็มีความแตกต่างกันมากครับ
แม้กระทั่งหุ้นกลุ่มอสังหาฯ หรือวัสดุก่อสร้าง เคยได้ p/e 10-20 เท่าในปี 46 แต่ปัจจุบัน p/e 6-8 เท่า หลายคนยังไม่อยากซื้อเลยครับ
ดังนั้น ผมคิดว่าการคำนวณราคาที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวนั้นค่อนข้างลำบาก สำหรับผมเองคงจะบอกได้ว่า หุ้นตัวหนึ่งๆ นั้นยังถูกพอสมควร และมี upside มาก ในขณะที่ downside หรือความเสี่ยงไม่มากนัก ทำให้น่าสนใจในการลงทุน หรือบอกว่าหุ้นตัวหนึ่งแพงกว่าที่ควรจะเป็น หรือมี downside พอสมควร หรือมีอนาคตที่ไม่น่าสนใจหรือมีความกังวลอะไรบางอย่าง ทำให้ไม่น่าสนใจนัก หรืออย่างมากก็บอกได้ว่าหุ้นตัวนั้นๆ ตามพื้นฐานแล้วราคาหุ้นไม่ควรต่ำกว่ากี่บาทต่อหุ้น แต่ผมเองไม่สามารถทำนายราคาที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้นได้อย่างถูกต้องครับ และไม่สามารถบอกได้ว่าหุ้นตัวนั้นจะขึ้นไปถึงเท่าไหร่ถึงจะน่าขายที่สุด หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่า หากมีคน 10 คนวิ่งแข่งกัน ผมสามารถบอกได้ว่า 3 คนไหนน่าจะมีอันดับแรกๆ หรือ พอจะบอกได้ว่านักวิ่ง 3 คนที่ผมเลือกมานั้นควรจะทำเวลาได้ไม่เกินกี่วินาที แต่ผมไม่สามารถบอกได้ว่าทั้ง 3 คนหรือแต่ละคนจะใช้เวลาวิ่งกี่วินาทีครับ
ดังนั้น การที่การประเมินราคาที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ยาก ระยะหลังๆ ผมจึงเน้นการที่เลือกหุ้นที่ดี คือ อยู่ในธุรกิจที่มีการเติบโต บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขัน และมีผู้บริหารที่ดี แล้วถือลงทุนไปเรื่อยๆ ครับ กล่าวคือ ผมคิดว่าเราควรจะทุ่มเทเวลาในการศึกษาปัจจัยด้านคุณภาพ หรือ qualitative เช่น การวิเคราะห์ทำความเข้าใจในธุรกิจ มากกว่าปัจจัยด้านตัวเลขหรือปริมาณครับ
การวิเคราะห์ความถูกแพงของหุ้นก็เป็นสิ่งสำคัญครับ ซึ่งหลักๆ คือการดู p/e การใช้ p/e นั้นต้องใช้กับหุ้นที่ไม่ใช่หุ้นวัฎจักรเท่านั้นนะครับ ถ้าเป็นหุ้นวัฎจักรก็ต้องใช้วิธีอื่นๆ ดู ซึ่งผมคิดว่านักลงทุนทั่วไปที่ยังไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งยังไม่ควรเริ่มศึกษาจาก หุ้นวัฎจักรครับ
ผมเคยเขียนถึงหุ้นวัฎจักรไปบ้างแล้ว เผื่อหลายท่านยังไม่ได้อ่าน ผมขอฉายหนังซ้ำนะครับ
หุ้นวัฎจักรแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ครับ
1 หุ้น commodity cyclical หุ้นประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์หรือ commodity ซึ่งสินค้าจะหน้าตาเหมือนกัน ทำให้ผู้ผลิตเกือบทุกรายจะต้องขายสินค้าหรือบริการที่ราคาเดียวกัน ได้แก่ เหล็ก ปิโตรฯ น้ำมัน ถ่านหิน เรือ แร่ธาตุ ฯลฯ หุ้นประเภทนี้จะมี cycle ขึ้นลงตาม demand supply ของอุตสาหกรรม ซึ่งมีปัจจัยด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเข้ามาเกี่ยวข้องในด้าน demand และมีปัจจัยด้านการเพิ่มหรือลดการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ของโลกซึ่งเป็นตัวกำหนด supply ดังนั้นผู้ศึกษา cycle ของธุรกิจจะต้องวิเคราะห์ให้ถูกทั้งด้าน demand และ supply ถูกด้านเดียวไม่พอครับ
2 หุ้น economic cyclical หุ้นประเภทนี้แม้จะไม่ได้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ แต่สินค้าหรือบริการนั้นมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจสูง เพราะอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่ได้จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตนักหรือพอจะชะลอการ ซื้อได้ หรือ/และ สินค้าของผู้ผลิตเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็น commodity ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักและลูกค้าพร้อมจะ switching จากยี่ห้อหนึ่งไปอีกยี่ห้อ ทำให้เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจึงมีการตัดราคากัน หรือเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูงมากทำให้การลดลงของรายได้ใกล้เคียงกับ กำไรที่จะลดลง หุ้นกลุ่มนี้ เช่น รถยนต์ อสังหาฯ วัสดุก่อสร้าง อิเลคทรอนิกส์ รวมไปถึงหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน คือ ธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์
การวิเคราะห์หุ้น economic cyclical นั้น ต้องอาศัยความสามารถในการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคสูงครับ เพราะยอดขายของหุ้นกลุ่มดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจและความ เชื่อมั่นของผู้บริโภคค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับนักลงทุนอย่างเราที่ จะไปทำนายแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ ที่ปัจจุบันมีตัวแปรในอนาคตที่คาดการณ์ยากจำนวนมาก เช่น การเมือง ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ เช่น สหรัฐ จีน
หุ้น cyclical ทั้งสองประเภทนั้น ดู p/e เป็นหลักไม่ได้ครับ โดยเฉพาะหุ้น commodity cyclical หุ้นเหล่านี้ แม้ p/e ต่ำมาก ก็จะใช่ว่าถูกเสมอไป หรือช่วงที่ p/e สูงก็ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป เช่น หากธุรกิจกำลังอยู่ช่วง peak หุ้นประเภท cyclical มักจะมีกำไรที่สูงมากทำให้ p/e ต่ำ แต่เมื่อธุรกิจเข้าสู่ขาลงกำไรจะลดลงแรงมากหรือถึงขั้นขาดทุน
ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่เป็นมือใหม่ หรือเป็นนักลงทุนที่มีงานประจำค่อนข้างยุ่งและไม่มีเวลาศึกษามากนัก ผมจึงแนะนำให้ดูหุ้นกลุ่มที่เป็น non-cyclical เป็นหลัก ซึ่งจะปลอดภัยกว่าและวิเคราะห์ง่ายกว่าครับ
สำหรับหุ้น non-cyclical ผมให้ดู p/e ครับ แต่ต้องเป็น eps ที่ adjust กำไรที่ไม่ใช่การดำเนินงานออกนะครับ และเป็น fully diluted eps คือรวมผลของ warrant esop เข้ามาแล้ว และคำนึงถึงเรื่องอัตราภาษีในอนาคตด้วยสำหรับหุ้นที่ยังมีสิทธิพิเศษ ทางภาษีอยู่
หุ้นที่น่าสนใจในการลงทุนคือ หุ้นที่มี p/e ต่ำกว่าการเติบโตของกำไรเฉลี่ยต่อปี ในอีก 5-10 ข้างหน้าครับ คือ ควรจะวิเคราะห์ให้แตกฉานจนเห็นภาพของธุรกิจอย่างน้อยในอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าให้ดี 10-20 ปีก็จะดีมากครับ ดังนั้นหุ้นที่อาจจะเติบโตปีละ 30% แต่ทำได้แค่ปีเดียว ก็ไม่น่าสนใจในความคิดผมครับ เว้นเสียว่าจะโต 100% ในปีเดียวก็อาจจะน่าสนใจในการลงทุนอีกลักษณะคือ แบบ hit and run ครับ
นอกจากนี้ ต้องอย่างลืมพิจารณาเรื่อง คุณภาพของกำไร ด้วยนะครับ ตามที่ผมเคยเขียนกระทู้เรื่องนี้ไว้แล้ว คือ เราจะต้องให้ p/e สูงกว่าในหุ้นที่มีคุณภาพของกำไรสูง และให้ p/e ต่ำกว่าในหุ้นคุณภาพกำไรต่ำหรือไม่ลงทุนเลยในกรณีคุณภาพของกำไรต่ำมาก
ดังนั้นคำถาม ก็คือ จะทราบได้อย่างไรว่าหุ้นแต่ละตัวจะมีการเติบโตกี่ % ต่อปีในอีก 5-10 ปีข้างหน้า คงจะต้องดู 3 ประการครับ
1 market growth
2 market share growth
3 net profit margin
1 market growth คือจะต้องศึกษาว่าธุรกิจ อุตสาหกรรมดังกล่าวมีการเติบโตแค่ไหน ซึ่งการวิเคราะห์ตรงนี้ก็ค่อนข้างยากและเป็นศิลปะพอสมควร และเราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในตัวอุตสาหกรรมอย่างมากครับ วิธีที่ง่ายที่จะเริ่มต้น ก็คือ การคิดว่า อนาคต หากผู้บริโภคมีรายได้ 100 บาทต่อปี ถ้าปัจจุบัน ผู้บริโภคจ่ายเงินในการซื้อสินค้าและบริการในธุรกิจนี้ 5 บาทต่อปี อนาคตเราคิดว่าคนจะจ่ายเงินในสัดส่วนของรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือคงที่ครับ หากสรุปได้ว่าคงที่ ก็เท่ากับว่า market จะโตได้พอๆ กับการเติบโตของรายได้ของผู้บริโภค คือ เท่าๆ กับ GDP ครับ ถ้าคิดว่าสัดส่วนการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคจะสูงขึ้น แสดงว่าธุรกิจดังกล่าวจะโตต่ำกว่า gdp ครับ
2 mkt share growth ให้ประเมินสถานภาพ mkt share ของบริษัท ว่ามี mkt share ประมาณกี่ % ถ้าหุ้นตัวนั้นๆ มี mkt share สูงมากอยู่แล้ว เช่น 70% หุ้นตัวนั้นคงจะลำบากในการเพิ่ม share สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้คือการรักษา mkt share และโตตามตลาด ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องดูเพิ่มเติมก็คือ เราจะคิดว่าหุ้นตัวดังกล่าวจะรักษา mkt share ได้หรือไม่ครับ คงจะต้องไปศึกษา barrier to entry ของธุรกิจ ศึกษาคู่แข่งด้วยครับ สำหรับหุ้นที่ mkt share ต่ำ ก็มีข้อดีคือ มีโอกาสเพิ่ม mkt share ได้อีก แต่ข้อเสียคือ มีโอกาสล้มหายตายจาก เพราะการมี mkt share ต่ำแสดงถึงการเสียเปรียบหลายๆ อย่างกับผู้มี mkt share สูง และอาจจะแสดงถึงความสามารถในการบริหารที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการเลือกหุ้น mkt share ต่ำ แม้ว่าจะมี upside สูง แต่ก็มี downside สูงเช่นกัน ดังนั้นเราจะต้องวิเคราะห์ให้ได้ถึงสาเหตุของการมี mkt share ต่ำว่าอะไร เพราะอาจจะมีเหตุผลที่ดีก็ได้เช่น เป็นบริษัทใหม่ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่ตั้งมาหลายสิบปีแล้วแต่ยังมี mkt share ต่ำอยู่ผมคิดว่าอาจจะยากเกินเยียวยาครับเว้นเสียว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในการ บริหารอย่างมีนัยสำคัญ
3 net margin ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูครับ เพราะบางครั้ง net margin ในบางปีของแต่ละบริษัทอาจจะต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจจะมีเหตุผลบางอย่าง หรืออาจจะสูงกว่าปกติในบางปี
สำหรับหุ้นที่ net margin ต่ำ ก็คงต้องระวังว่าหากต่ำกว่านี้อีกหน่อย ก็เท่ากับว่าขาดทุนทันที แม้จะมียอดขายเพิ่มก็ตาม แต่ก็มีข้อดีคือมี room ที่ margin ที่เพิ่มขึ้นหากมีการปรับปรุงหรือมียอดขายที่เพิ่มขึ้นซึ่งน่าจะนำพาให้ economy of scale มากขึ้น
สำหรับหุ้นที่ net margin สูง ก็มีข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือ บริษัทนั้นๆ จะมีแนวโน้ม roa roe ที่สูง และบริษัทนั้นๆ จะทนกับการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง หรือปัจจัยด้านต้นทุนได้ดี ก็คือยังสามารถสร้างกำไรอยู่ได้ แต่ข้อเสียคือ การมี margin สูงมากๆ ประเภท too good to be true จะนำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงในอนาคตหาก barrier to entry ไม่สูงพอ และข้อเสียกับนักลงทุนคือหากเราให้ net margin ดังกล่าวในการทำนายในอนาคต อาจจะได้ผลที่คาดเคลื่อนได้ครับ
ดังนั้น เราจะต้องพิจารณา 3 ปัจจัยดังกล่าว ในการประเมินคร่าวๆ ว่าหุ้นตัวนั้นๆ จะมี growth มากน้อยเพียงใดในอนาคตครับ เราอาจจะแบ่งหุ้นได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ครับ
1 market growth สูง และ mkt share สูง
หากธุรกิจดังกล่าวมี barrier to entry สูงด้วย หุ้นนั้นๆ จะเป็น super stocks ครับ เพราะการที่หุ้นนั้นๆ มี mkt share สูงจะทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่งมากในด้านทรัพยาการต่างๆ ที่จะมาใช้ในการสร้างยอดขายเพื่อรองรับการเติบโตต่างๆ เช่น ทรัพยากรเงินทุน บุคลากร แต่หาก barrier to entry ต่ำ ก็อาจจะทำให้ความน่าสนใจลดลง แต่ด้วยความที่เค้กก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้หุ้นตัวนั้นๆ พอจะมีความน่าสนใจอยู่บ้างครับ
2 market growth สูง mkt share ต่ำ
หุ้นประเภทนี้ให้ดูปัจจัยเดียวเป็นหลักครับ คือ ความสามารถของผู้บริหาร ถ้าเราคิดว่าผู้บริหารมีความสามารถสูงและจะสามารถเพิ่ม mkt share ได้ หุ้นประเภท 2 นี้จะมี upside มากกว่าประเภท 1 อีกครับเพราะจะโตจากทั้งตลาดรวมที่โตและ mkt share ที่เพิ่ม ยกตัวอย่าง เช่น หุ้น LH ตอนปี 43 มี mkt share เพียง 7% ของตลาด แต่หลังจากได้สร้างบ้านก่อนขายและมี concept บ้านสบาย ทำให้ mkt share เพิ่มเป็นประมาณ 25-30% ในปี 46 ในขณะที่ตลาดรวมก็เติบโตสูง ผลก็คือ Lh มีราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 10 เท่าครับ
3 mkt growth ต่ำ mkt share สูง
หุ้นประเภทนี้น่ากลัวครับ เพราะการเติบโตของตลาดรวมที่ต่ำ ทำให้ผู้เล่นรายใหม่จะต้องมาแย่งเค้กจากรายเดิม และบริษัทที่มี mkt share สูงจะต้องอยู่ในสภาวะที่ตั้งรับ คือ ต้องรักษา mkt share อย่างเดียว และโอกาสเติบโตก็มีค่อนข้างน้อย ยกตัวอย่างคือ หุ้น BEC ในปี 43-44 มี mkt share ในตลาดโฆษณา TV 40% แต่ธุรกิจโฆษณา TV เริ่มโตช้าลง ในขณะที่ bec ได้เสีย mkt share ให้กับช่อง 7 ITV และ ช่อง 9 ทำให้ราคาหุ้นของ BEC ลดลงจาก 25 บาทมาเหลือ 15 บาทในปัจจุบัน
4 mkt growth ต่ำ mkt share ต่ำ
หุ้นประเภทนี้มองยากครับ ถ้าเป็นบริษัทที่ผู้บริหารมีความสามารถและสามารถเพิ่ม mkt share ได้ก็จะทำให้กำไรเติบโตได้มาก แต่ต้องดูว่าเป็นการเพิ่ม mkt share ที่ยั่งยืนหรือไม่ด้วยเพราะการที่บริษัทขนาดเล็กได้ mkt share เพิ่มก็มักจะถูกรุกกลับจากผู้เล่นรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบในด้านทรัพยากร โดยเฉพาะการเพิ่ม mkt share ด้วยการตัดราคาในขณะที่ต้นทุนยังลดไม่ได้คงไม่ใช่วิธีที่ดีแน่นอนครับ นอกจากนี้ยิ่งหากเป็นบริษัทที่ผู้บริหารไม่เก่งแล้ว บริษัทเหล่านี้ก็มีโอกาสล้มหายตายจากครับ เพราะการที่ mkt growth ต่ำทำให้ผู้เล่นรายใหญ่จะต้องมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดกันเอง คนที่กระทบหนักสุดคือรายเล็กครับ เข้าข่าย ช้างชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกราญครับ
สิ่งที่ผมอธิบายคงจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งนะครับ ก็มีรายละเอียดอีกมากมายซึ่งผมจะพยายามเขียนและถ่ายทอดออกมาในอนาคตนะครับ คงจะไม่ว่านะครับที่ผมคงจะไม่มีสูตรลับหรือหลักการอะไรตายตัวให้ เพราะผมก็ไม่มีจริงๆ ครับ และคิดว่าไม่น่าจะมีสูตรหรือหลักการอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จนะครับ เพราะมิฉะนั้นเราคงจะเห็นคนจำนวนมากมายร่ำรวยจากการลงทุนในตลาดหุ้นไปแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยที่จบปริญญาเอกและสอนด้านการลงทุนคงจะร่ำรวยจากตลาดหุ้น และออกมาลงทุนเองกันหมดแล้ว และก็คงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมระยะหลังๆ ผมพยายามจะไม่ให้ราคาที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัว ผมคิดว่าหุ้นเป็นศิลปะ 90% เป็นคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อีก 10% ครับ ดังนั้นการศึกษาให้มากที่สุด เรียนรู้ให้มากที่สุด คงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในหุ้นครับ แม่ทัพที่มีชื่อเสียงของโลกในอดีต ก็ต่างใช้กลยุทธ์และการจัดทัพในแต่ละสนามรบต่างๆ กันในการรบแต่ละครั้งขึ้นกับภูมิประเทศ อากาศ จำนวนทหารและยุทโธปกรณ์ของของตนและข้าศึก ฯลฯ ดังนั้นคงจะไม่มี short cut หรือหลักการตายตัวอะไรที่ได้ผล 100% ครับ
ที่มา ToroMagn

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

ลงทุนหุ้นด้วย ปรัชญา 3 ห่วง



ว่าด้วยเรื่องสไตล์การลงทุนหุ้น ปัจจุบันมีหลากหลายแนวทางด้วยกัน ทั้งแนวทางแบบ Top Down ที่เน้นการปรับพอร์ตด้วยการมองปัจจัยมหภาค หรือดูระดับอุตสาหกรรม หรือแนวทางแบบ Bottom Up ที่เน้นการวิเคราะห์เลือกเป็นรายบริษัทเป็นหลัก นอกจากนี้ที่เห็นได้เยอะก็ยังมีแนวทางแบบ Technical Analysis ที่เน้นการดู Chart ที่มีเครื่องมือต่าง ๆ มากมาย เช่น MACD, RSI, MA ฯลฯ วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงปรัชญาการลงทุนหุ้นแบบ Bottom Up ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนซีไอเอ็มบี พรินซิเพิลที่ผู้เขียนทำงานอยู่ครับ หลังจากที่ผู้เขียนได้ทำงานอยู่กับแนวทางนี้มาประมาณ 1 ปี คิดว่าเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจ และใช้ได้จริง

ที่ CIMB-Principal การลงทุนในหุ้นจะเน้นที่แนวทางแบบ Bottom-up เป็นหลัก คือการวิเคราะห์เจาะลึกเป็นรายบริษัท ขั้นตอนการทำงานก็เป็นไปอย่างง่าย ๆ ดังนี้

   Pre-Visit ก่อนจะไปพบปะเยี่ยมเยียนกิจการ นักวิเคราะห์ (Analyst) ซึ่งบ่อยครั้งผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) ก็ต้องรับบทบาทนักวิเคราะห์เอง จะต้องทำการศึกษาบริษัทที่จะไปก่อน ตั้งแต่ตัวธุรกิจ ขั้นตอนการทำงาน กลยุทธ์ โครงสร้างงบการเงิน ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร บอร์ด และนำข้อมูลมาหารือร่วมกับทีมงานเพื่อค้นหาว่าบริษัทที่กำลังศึกษามีจุดเป็น จุดตายอยู่ที่ไหน และร่วมกันคิดคำถามว่าเราจะตั้งคำถามอะไรกับผู้บริหารของบริษัทที่กำลังจะไปเจอ โดยคำตอบของคำถามนั้นจะต้องเข้ามาเติมเต็มการวิเคราะห์ และนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนในที่สุด

   Company Visit เป็นขั้นตอนที่ผู้เขียนชอบที่สุด มีเพียงไม่กี่อาชีพในโลกเท่านั้นที่จะทำให้เราได้พบกับผู้บริหารสูงสุดของบริษัทระดับประเทศ ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ได้ฟังประสบการณ์ วิธีคิด ดี ๆ จากนักธุรกิจระดับต้น ๆ ของประเทศ บ่อยครั้งที่การ Company Visit บริษัทหนึ่ง จะได้ข้อมูลสำคัญของอีกบริษัทที่อาจเป็นคู่ค้า หรือคู่แข่งของบริษัทที่เราไปเยี่ยมชม สำคัญคือการตั้งคำถามกับผู้บริหาร เราต้องถามคำถามที่ไม่ได้เป็นการละลาบละล้วงเกินไป แต่เป็นคำถามสำคัญที่ช่วยเติมเต็มข้อมูลที่เรามี บางทีหนึ่งบริษัทต้องไปเยี่ยมชมหลายครั้งถึงจะได้คำตอบที่ต้องการ

   Post-Visit คือการนำข้อมูลตั้งหมดมาปะติดปะต่อกัน ซึ่งที่ขั้นตอนนี้เองที่ “ปรัชญา 3 ห่วง” จะได้นำมาใช้ในการวิเคราะห์ นั่นคือการค้นหาหุ้นของบริษัทที่มี 3 ลักษณะสำคัญ ดังนี

3.1 Fundamental Change หรือ ปัจจัยพื้นฐานที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะกำไรของบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโต ในที่นี้ผู้เขียนมักมองหาระดับการเติบโตของกำไรประมาณ 15 – 20% ขึ้นไปใน 1 – 3 ปีข้างหน้า สำคัญอีกอย่างคือ Earning Visibility นั่นคือความชัวร์ของการเติบโตของกำไร ยิ่งมั่นใจได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี กระแสเงินสดของบริษัทก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะความเพียงพอของกระแสเงินสดที่จะนำไปลงทุนต่อในอนาคต และยังเหลือพอไว้สำหรับปันผลให้ผู้ถือหุ้น นอกจากนี้การทำความเข้าใจในปัจจัยทางคุณภาพเช่น กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ธรรมาภิบาล ก็สำคัญเช่นกัน

3.2 Valuations เมื่อเจอบริษัทที่พื้นฐานดีแล้ว สิ่งถัดไปก็คือ Valuations ว่าหุ้นถูกหรือแพง ว่าด้วยเรื่องการประเมินมูลค่านั้นมีมากมาย เช่น Free Cash Flow, Enterprise Value, Relative Value เป็นต้น ส่วนตัวผู้เขียนชอบใช้เครื่องมือง่าย ๆ อย่าง P/E และ PEG พยามยามหาหุ้นที่พื้นฐานดี และ PEG ต่ำ ๆ สำหรับผู้เขียนมองว่าต่ำกว่า 0.75 ก็เริ่มถือว่าใช้ได้ มีอีกมุมหนึ่งที่สำคัญคือ หุ้นโตเร็ว มีโอกาสทำกำไรได้มากว่าหุ้นโตช้า ลองดูตัวอย่างนี้ครับ

หุ้น ABC กำไรโตปีละ 20% P/E 20 เท่า EPS ปัจจุบัน 1 บาท ราคาหุ้นปัจจุบัน 20 บาท

หุ้น DEF กำไรโตปีละ 10% P/E 10 เท่า EPS ปัจจุบัน 1 บาท ราคาหุ้นปัจจุบัน 10 บาท

ผ่านไป 1 ปี สมมติว่าตลาดให้ค่า PEG 1 เท่าเช่นเดิม และแนวโน้มการเติบโตทั้งสองบริษัทยังเป็นเช่นเดิม

หุ้น ABC มี EPS 1.2 บาท คูณ P/E 20 เท่าจะมีราคา 24 บาท หรือกำไร 20%

หุ้น DEF มี EPS 1.1 บาท คูณ P/E 10 เท่าจะมีราคา 11 บาท หรือกไร 10%

ผู้เขียนจึงชอบมองหาหุ้นโตเร็ว แต่ต้องโตเร็วอย่างแข็งแกร่งด้วย คือมี Earning Visibility เพราะหุ้นโตนั้น High Risk / High Return ตลาดมีความคาดหวังการเติบโตสูงจึงให้ค่า P/E สูง เวลากำไรออกมาผิดหวังหุ้นกลุ่มนี้ก็จะลงแรงเช่นกัน ดังนั้นหากคิดจะเล่นหุ้นโตเร็ว การทำการบ้านสำคัญมาก ยิ่งรู้มากกว่า ยิ่งได้เปรียบครับ

3.3 Expectations วงกลมห่วงสุดท้าย ที่ต้องมองหาคือ บริษัทที่ยังไม่ถูกค้นพบ “Undiscovered Company” บางกรณีเราเจอบริษัทที่ดี ในราคาที่เหมาะสม เมื่อบริษัทนั้นผลประกอบการออกมาดีอย่างที่คาด ตลาดก็จะเริ่มมาสนใจ บางครั้งนักวิเคราะห์ของ Broker ต่าง ๆ ก็จะเริ่มเข้ามาออกบทวิเคราะห์ เมื่อบริษัทถูกค้นพบโดยตลาด ก็จะทำให้ราคาหุ้นถูก Unlock ปรับตัวขึ้นไปตามพื้นฐาน อีกกรณีหนึ่งที่ต้องมองหาคือ การเติบโตที่ถูกมองข้าม (Unperceived Growth) คือบริษัทที่นักวิเคราะห์มองว่าโตช้า แต่จากการทำการบ้านเราพบว่ากำลังจะมี Fundamental Change และกลายเป็นหุ้นโตเร็ว การเข้าลงทุนในหุ้นลักษณะนี้มีโอกาสที่ดีที่หุ้นจะถูก Re-Rate Valuation ไปซื้อขายที่ Valuations แพงขึ้น เนื่องจากเมื่อกำไรออกมาโตกว่าที่ตลาดคาด นักวิเคราะห์ก็จะปรับประมาณกำไรเพิ่ม ปรับราคาเป้าหมายเพิ่ม ซึ่งเป็นตัวเร่งอย่างดีที่จะทำให้ราคาหุ้นปรับตัว

ทั้งหมดก็เป็นแนวทางการลงทุนแบบ Bottom Up ตามสไตล์ของบริษัทที่ผู้เขียนทำงานอยู่ครับ การเลือกหุ้นแต่ละตัวเข้ามาไว้ในพอร์ต ถ้าเจอตัวที่มีครบทั้ง 3 ห่วง คือพื้นฐานกำลังเปลี่ยนแปลงเติบโตดีขึ้น Valuation ไม่แพง และตลาดยังไม่รับรู้ ก็จะเป็นหุ้นที่กองทุนเข้าลงทุน แต่ก็ต้องยอมรับครับว่าไม่ง่ายที่จะเจอ “หุ้น 3 ห่วง” ได้บ่อย ๆ เหมือนกัน ผู้เขียนหวังว่าแนวคิดข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนนักลงทุนที่เป็นแนวปัจจัยพื้นฐาน (Fundamentalist) นะครับ

ติดตาม FundManagerTalk.com ได้แล้ววันนี้ บนหลากหลายช่องทาง

Website: www.fundmanagertalk.com

Facebook: www.facebook.com/fundmanagertalk

Twitter: www.twitter.com/FundTalk

Google+: http://:-)/cJtsF

Youtube: www.youtube.com/fundmanagertalk 

ลงทุนหุ้นด้วย ปรัชญา 3 ห่วง

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ PE ratio


1. การใช้ PE ratio เพื่อประเมิน fair value ของกิจการที่เราลงทุน จัดได้ว่าเป็นวิธีการที่ง่าย และให้ sense ถึงความถูกแพงของหุ้นได้เป็นอย่างดี

2. อย่างไรก็ดี สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ การใช้ PE ratio อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ยาก เพราะการใช้ PE ratio นั้นต้องอาศัยทั้ง ”ศิลปะ” และ “ประสบการณ์” พอสมควร

3. สิ่งแรกที่ผมอยากจะแนะนำก็คือ PE ratio ที่เราใช้นั้นควรจะเป็น PE ratio ของ ”อนาคต” นั่นหมายความว่าเราต้องสามารถใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพมาประเมินผลกำไรในอนาคตให้ ได้เสียก่อน ( ผมมองว่าอย่างน้อยเราควรจะต้องประเมินผลกำไรอีก 2 ปี ข้างหน้าให้ได้ ) ก่อนที่จะให้อัตราส่วนทางการเงินตัวนี้

4. ไกด์ไลน์คร่าวๆ สำหรับการใช้ PE ratio… สิ่งแรกที่ผมจะพิจารณาก็คือคุณภาพของ E ( ซึ่งก็คือคุณภาพของกิจการ ) ถ้ากิจการเป็นกิจการที่ดีมากๆ มีความได้เปรียบในการแข่งขันสูง ( super stock ) มีรายได้ที่สม่ำเสมอ และมีกำไรที่มีสเถียรถาพซึ่งสามารถเติบโตได้ทุกปี ผมมักจะให้ pe 12 -15 สำหรับกิจการที่ดีพอสมควร มีการเติบโตติดกันหลายๆปี แต่อาจจะไม่ได้มีความได้เปรียบทางการแข่งขันมากนัก รายได้อาจจะผันผวนในบางไตรมาส ผมก็มักจะลด pe ลงมาเหลือ 8 -12 ส่วนกิจการ”งั้นๆ” กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง ผมก็มักจะให้ที่น้อยกว่า 8

5. สิ่งที่ผมจะใช้ต่อไป ก็คือ PE ratio เฉลี่ยของอุตสาหกรรม อย่าลืมว่า E เกิดจากคุณภาพของกิจการ แต่ PE ratio เกิดจากความคาดหวังของนักลงทุน ดังนั้น PE ratio ของอุตสาหกรรมนั้นจะเป็น reference คร่าวๆ ให้กับเราได้เป็นอย่างดีว่านักลงทุนส่วนใหญ่มองอุตสาหกรรมนั้นๆอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เราไปพบหุ้นอสังหาริมทรัพย์ตัวหนึ่งถูกเทรดที่ PE แค่ 5 แล้วเราดูงบการเงินย้อนหลังไป เราก็พบว่าบริษัทก็มีผลกำไรสม่ำเสมอ พอสมควร แบรนด์ของบริษัท ก็เป็นที่รู้จักในตลาด เราอาจจะคิดว่านี่คือหุ้นที่”ดี” และน่าจะเทรดที่ PE 7-8 แต่ถ้าเราไปดูข้อมูลของอุตสาหกรรม เราจะพบว่า มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กมากมายที่เทรดกันแค่ PE 4-5 ( หลายตัวอาจมีงบการเงินที่”แข็งแรง”กว่าบริษัทที่เราสนใจด้วยซ้ำ ) นั่นเป็นเพราะมุมมองของตลาดเราต่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ไม่เคยดีอีกเลย นับตั้งแต่วิกฤติ 40 เป็นต้นมา

6. PE / % Growth ( PEG ) เป็นอีกวิธีที่อาจจะใช้หา PE ratio ที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับหุ้นโตเร็ว ที่บางครั้งการใช้ Forward PE ratio ไปแค่ 1-2 ปี อาจจะ”หลอกตา” ทำให้หุ้นดูแพงเกินจริง ปีเตอร ลินช์ ให้หลักการคร่าวๆว่า PEG ที่เหมาะสมของหุ้นโตเร็วคือ 1 ซึ่งก็แปลว่า PE ratio ที่เหมาะสมของหุ้นโตเร็วนั้นเท่ากับอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยนั่นเอง

7. หุ้นอีกประเภทที่การใช้ PE อย่างเดียวอาจจะหลอกตา นั่นก็คือหุ้นที่ต้องลงทุนกับ asset ขนาดใหญ่ และมีภาระค่าเสื่อมในแต่ละปีมากๆ เพราะบริษัทประเภทนี้ผลกำไร ( E ) จะดูน้อย เพราะผลจากค่าเสื่อม ทั้งที่จริงๆแล้ว กระแสเงินสดอิสระที่ไหลเข้าบริษัทนั้นมาก ( จนบางครั้งบริษัทแทบจะปันผลออกมาได้หมดทั้ง 100% ของ EPS ) การประเมิน FV ของหุ้นประเภทนี้ ดีที่สุดคือการใช้ DCF หรือถ้าจะทำให้ง่าย ก็อาจจะประเมินด้วย P / Cash flow or P / EBITDA แทน

8. แล้วถามว่า PE เท่าไรถึงจะเรียกว่า Undervalue? คำตอบของคำถามนี้ก็ง่ายๆ นั่นคือเมื่อเราเห็นว่าบริษัทนั้นๆ กำลังถูกเทรดกันที่ PE ratio ที่น้อยกว่า PE ratio ที่เหมาะสมที่เราประเมินไว้ ( ลำพังโดยตัวที่ PE เองนั้นไม่อาจบอกได้ว่าหุ้นถูกหรือแพง เช่น PE 8 สำหรับอุตสาหกรรมตะวันตกดิน อาจจะเรียกได้ว่าแพง แต่ PE 8 สำหรับหุ้น modern trade อาจจะเรียกได้ว่าถูก )

9. อย่างไรก็ดี PE ที่น้อยมากๆ เช่นต่ำกว่า 3 -4 ก็อาจจะจัดได้ว่า undervalue โดยไม่ต้องสนกับคุณภาพของกิจการมากนัก เพราะที่ PE ระดับนี้ ปันผลมักจะเกิน 10% ( ถ้า payout ไม่ต่ำกว่า 50% ของ EPS ) ซึ่งปันผลที่ขึ้นถึงสองหลักถือว่า undervalue มาก หากมองด้วย dividend approach ( หากมีโอกาสผมจะเขียนบทความเรื่อง dividend approach ให้เพื่อนนลท.ได้อ่านกัน )

10. สำหรับหุ้นวัฎจักร โดยเฉพาะในกลุ่ม commodity ส่วนตัวผมไม่ค่อยนิยมใช้ PE ratio ในการประเมิน FV เท่าไรนัก เพราะ E ของบริษัทเหล่านี้มักจะผันผวนได้มากๆ ผมมักจะใช้ PB ในการประเมินมูลค่ามากกว่า ( อาศัยหลักการที่ว่า นักลงทุนจะยินดีซื้อกิจการต่อจากเจ้าของในราคากี่เท่าของเงินลงทุนเริ่มแรก ในขณะที่ธุรกิจกำลังอยู่ใน up-cycle ) โดยอาศัยข้อมูลย้อนหลังว่า ตลาดมักจะให้ PB เท่าไรใน”ขาขึ้น” รอบก่อนๆ

อย่างไรก็ดีหลักการในข้อ 9 เรื่อง PE ratio ที่ต่ำมากๆ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับหุ้นวัฎจักรได้ นั่นคือ ถ้าเราเห็นแล้วว่า E ของขาขึ่นรอบนี้ จะทำให้ Forward PE ratio ต่ำกว่า 3 -4 ก็เป็นจุดที่เรามั่นใจได้พอสมควรว่าหุ้นยัง undervalue อยู่มาก

ขอบคุณ reiter จากเว็บ TVI


สอนวิธีเล่นหุ้นให้รวย



เมื่อวานผมได้รับการร้องขอจากนักธุรกิจท่านหนึ่ง แกถามผมว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการเล่นหุ้นให้รวย ผมก็ขอสรุปให้ท่านลำดับการวิเคราะห์แบบนี้
1) ท่านควรเล่นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี …คำว่าปัจจัยพื้นฐานดีหมายความว่า                  

1.1)หุ้นนั้นมีอนาคต คือ ทำธุรกิจและมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นกำไรสุทธิ
 1.2) หุ้นที่มีกำไรสุทธิตามข้อ 1.1) จะจ่ายเงินปันผลได้ …แต่ต้องระวังข้อ 1.3)
1.3) ต้องใส่ใจดูว่าหุ้นนั้นมีขาดทุนสะสมหรือไม่ ในกรณีมีขาดทุนสะสม และเกิดกำไรสุทธิในปีปัจจุบัน แต่กำไรยังไม่มากพอ หุ้นนั้นก็ยังคงขาดทุนสะสมอยู่ ไม่สามารถจะจ่ายเงินปันผลได้
 1.4) ยกตัวอย่างข้อ 1.3) หุ้นนั้นมีขาดทุนสะสม 100 ล้านบาท มีกำไรสุทธิในปีนี้ 20 ล้านบาท หุ้นนี้ยังมีขาดทุนสะสมอีก 80 ล้านบาท แต่การดูแค่นี้ไม่ได้หมายความว่า หุ้นนี้จะไม่น่าลงทุน ท่านยังต้องดูข้อ 1.5) ต่อ
 1.5) หุ้นนี้มีส่วนเกินมูลค่าหุ้นหรือไม่ …ส่วนเกินมูลค่าหุ้น คือ ตอนที่หุ้นนี้ถูกขายให้ประชาชนในราคา 30 บาท/หุ้น ในขณะที่มูลค่าที่กำหนดอยู่ที่ 10 บาท/หุ้น เกิดส่วนเกินมูลค่าหุ้น หุ้นละ 20 บาท…จำนวนส่วนเกินมูลค่าหุ้นทั้งหมดนี้ท่านสามารถดูได้จากงบดุลตรงส่วนทุน หากดูแล้วปรากฏว่าเป็นตัวเลข 150 ล้านบาท งานนี้หุ้นจะวิ่งขึ้นพอสมควรครับ เพราะมีความหมายว่าขาดทุนสะสมจะหมดไปได้ หากบริษัทนั้นลงมติโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้นำส่วนเกินมูลค่าหุ้น 150 ล้านบาทนั้นมาล้างขาดทุนสะสมจำนวน 80 ล้านบาท
1.6) บริษัทเลยมีกำไรสะสมทันที 70 ล้านบาท สามารถจ่ายเงินปันผลได้ (การล้างขาดทุนสะสม ด้วยส่วนล้ำมูลค่าหุ้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน)
1.7) นอกจากมีกำไรและไม่มีขาดทุนสะสมแล้ว หุ้นนั้นยังเติบโตได้เรื่อยๆ พูดง่ายๆ ก็คือ บริษัทสามารถขยายกิจการและสร้างรายได้ได้ต่อไป… มีกำไรโดยตลอด นี่แหละหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี

2) ท่านควรเล่นหุ้นที่มีลักษณะของการทำธุรกิจแบบผูกขาด หรือเป็นผู้นำในตลาด… ดำเนินธุรกิจในตลาดแบบผูกขาด แบบผู้ขายน้อยราย แบบกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด …ไม่ใช่ดำเนินธุรกิจในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เพราะหุ้นแบบที่กล่าวไปจะมีกำไรสุทธิต่อยอดขายสูง มีปันผลในอัตราสูง หรือหากปัจจุบันยังไม่มีเงินปันผล แต่หากในอนาคตไม่มีใครจะเข้ามาแข่งขัน (ผูกขาดก็หมายความว่าหุ้นนี้จะราคาสูง ถึงแม้ว่าจะได้ปันผลต่ำ แต่ในระยะยาวจะได้กำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้น และจะได้ปันผลสูงในอนาคต อย่าง PTT, PTTEP เป็นต้น


3) ถ้าเป็นผม ผมจะเล่นหุ้นที่เตรียมตัวจะทะยานขึ้น ผมมักจะเล่นหุ้นที่มีลักษณะตามข้อ 1) คืออาจจะขาดทุนแต่เริ่มกำไร จากกำไรแล้วเริ่มเติบโตอย่างมั่นคง หุ้นลักษณะแบบนี้จะราคาถูกในตอนต้น หากถือไว้จะได้กำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นเป็นอย่างมาก

4) นอกจากการเล็งหุ้นตามข้อ 3) ผมยังรู้ว่าหุ้นทุกตัวนั้นจะมีวงจรชีวิต ดังนั้นผมจะซื้อหุ้นตอนที่หุ้นฟื้นคืนชีพจากจุดต่ำสุด คือธุรกิจเริ่มฟื้นตัว มีกำไร แต่ยังขาดทุนสะสม หุ้นลักษณะนี้ราคาจะต่ำ เหมาะแก่การลงทุนในระยะกลาง …ท่านจะได้กำไรมาก

5) เนื่องจากจำนวนหุ้นมีมากมายหลายร้อยตัว ผมจึงเฝ้าดูการซื้อขายของหุ้นแต่ละตัวในทุกวัน โดยดูจากข้อมูลในหนังสือพิมพ์ หรือจากแหล่งอื่นใด ผมจะดูให้รู้ว่า มีใครแอบไปเก็บหุ้นเอาไว้ในหน้าตักของตัวเองบ้าง เพราะก่อนการขึ้นของราคาหุ้นจะมีไอ้โม่งมาแอบเก็บของเสมอ

6) จากข้อ 5) เมื่อผมเริ่มเอะใจกับหุ้นตัวใด ผมจะเข้าไป Print งบการเงินและสารสนเทศของบริษัทนั้นๆ ใน http://www.sec.or.th/ เอามาอ่านให้หนำใจ เพื่อที่จะได้จินตนาการโอกาสทางธุรกิจของหุ้นตัวนั้นออกว่า  มีอนาคตหรือไม่อย่างไร

7) ขั้นตอนข้อ 6) จะทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่าหุ้นนี้น่าซื้อหรือไม่อย่างไร และยังนำมาพิจารณาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ในข้อ 5) ทำให้ผมมั่นใจในการตัดสินใจมากขึ้นอีกมาก

8) ก่อนจะไปในขั้นตอนต่อไป ผมคงบอกกับท่านว่า พอผมเอะใจว่ามีคนเก็บหุ้นตัวนี้ ผมจะเริ่มดูว่าหุ้นนี้มีใครเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่บ้าง รายย่อยถือจำนวนเท่าใด …งานนี้ผมต้องรู้ให้ได้ว่ารายใหญ่จะเก็บของกันวันละเท่าไร และเก็บนานกี่วัน …อย่างหุ้น 300 ล้านหุ้น หากมีรายย่อยถือ 30 ล้านหุ้น อาจมีปริมาณการซื้อขาย 2 ล้านหุ้น/วัน โดยที่ราคายังไม่เปลี่ยนแปลง ไอ้ปริมาณ 2.0 ล้านหุ้นที่ซื้อขายกันต่อวัน รายใหญ่อาจเก็บของ (หุ้นได้ประมาณซัก 30% ของ 2 ล้านหุ้น ท่านก็ลองคำนวณดูซิครับว่า จะต้องเก็บของกันกี่วัน ท่านเห็นว่ามีสัญญาณแบบนี้ ท่านก็กระโดดเข้าไปซื้อเลยครับ

9) การกระโดดเข้าไปซื้อเป็นเพราะ 1) มีสัญญาณการเก็บของชัดเลย + 2) หุ้นมีพื้นฐานดี + 3) หุ้นมีโอกาสกำไรสะสม + 4) หุ้นมีโอกาสปันผลสูง

10) หลังจากซื้อแล้ว รอเวลาให้หุ้นขึ้น แล้วขายในราคาที่ท่านพอใจ

11) ราคาหุ้นขึ้นเท่าไรจึงจะขายเป็นปัญหาของนักลงทุนทุกคน เพราะส่วนใหญ่มักจะขายเร็วไป …หุ้นยังวิ่งขึ้นไปต่อ …งานนี้ขอแนะนำให้ทดลองทวนกระแสนักวิเคราะห์หุ้นดู ถ้านักวิเคราะห์บอกว่าให้ขาย ลองไม่ขาย อาจจะรวยได้ แต่ถ้าขายก็อาจจะเจ็บใจนักวิเคราะห์ (สาเหตุเป็นเพราะ กราฟที่แสดงข้อมูลทางเทคนิค รายใหญ่สามารถสร้างได้ จะให้เป็นเส้นอะไร บอกสัญญาณอะไร เป็นเรื่องที่หมูเหลือเกิน)


ทั้งหมดที่ผมเขียนอธิบาย เป็นกรณีของหุ้นที่เข้าสู่การเปลี่ยนฐานราคาคือ จาก 4 บาทเป็น 10 บาท จาก 20 บาท เป็น 26 บาท แบบนี้เป็นต้น
จำเอาไว้ว่า หุ้นขึ้นได้เพราะมีคนบงการ สำหรับวิธีการเล่นหุ้นก็คงขอเขียนอธิบายเอาไว้เท่านี้

ที่มา: งอกเงย


  









วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

มีหนังสือดีๆ มาฝาก




วันนี้ผมมีหนังสือดีๆมาแนะนำกันครับ ชื่อว่า iPag เล่มสีดำๆ ดูแล้วมันมันไม่ค่อยน่าอ่านเท่าไหร่ 55+ แต่เพราะความแปลกของหนังสือ ผมเลยหยิบขึ้นมาดูเล่น ดูเสร็จก็กะจะวางไว้ที่ชั้นวางหนังสือเช่นเดิม แต่สายตาผมเหลือบไปเห็น ประโยคตรงหน้าปกหนังสือว่า “คนไทย...ที่อายุน้อยที่สุด...และเก่งที่สุดในโลก...” ว้าวๆ...อะไรขนาดนั้น ผมอยากรู้เลยหยิบมาอ่านสักหน่อย อ่านตรงหน้าแรกๆ เป็น บทคำเตือน โอ้!! ชีวิต iPag เทพมากเลย ผมหยิบเล่มนี้ไปที่เคาน์เตอร์แล้วจ่ายเงินทันทีเลย หุหุ


หนังสือเล่มนี้ ช่วยเพิ่มโลกทรรศน์ใหม่ๆ ให้กับผม และยังเพิ่มไฟในตัวผมมากยิ่งขึ้น อ่านจบก็ต้องลองมองย้อนดูตัวเอง แล้วเป้าหมายแรกในชีวิตของผมล่ะ “มีเงินเก็บ 1 ล้านบาทให้ได้ ก่อนอายุ 26 ปี ตอนนี้เหลือ แค่ 10 เดือน” คำนวณในตาราง excel ดู ถ้าหวังเงินเดือนอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะผมใช้เงินเดือนชนเดือน 55+ แต่ความหวังของผมอยู่ที่ตลาดหุ้น หุ้นที่ผมลงทุน ผมได้ซื้อรอบแรก ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ และก็เล่นรอบตอนมัน Peak มา 1 รอบแล้ว พอมันย่อลงมาผมก็ทะยอยซื้ออีกครั้ง หลังจากนั้นตลาดขึ้นมาแรงมาก แต่หุ้นผมกับนิ่งมาก ตรงข้ามกันเลย 55+ แต่ไม่เป็นไร (ปลอบใจตัวเอง หุหุ) ผมมองให้ยาวๆ ให้เวลาทั้งปีนี้ จนถึงกลางปีหน้า มันน่าจะมีอะไรดีๆ ถ้าไม่เกิดแผ่นดินไหว, น้ำท่วมใหญ่หรือเศรษฐกิจไม่ดีซะก่อน ร่วมๆแล้วคือปัจจัยภายนอกที่มันควบคุมไม่ได้อ่ะครับ ผมว่า หุ้นที่ผมลงทุนน่าจะชนะตลาดได้สบายนะครับ อิอิ ถ้าเป็นแบบนั้น เป้าหมายของผมคงไม่ไกลเกินเอื้อม หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น


บ่นเรื่องของผมมาซะเยอะเลย ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู ผมว่ามีอะไรน่าสนเยอะ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่รู้จักการวางแผนการใช้ชีวิต หนังสือเล่มนี้จะคอยเตือนสติคุณได้ดีเลยแหละ ผมเชื่อว่ามีคนหลายคนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น จากการได้อ่านหนังสือดีๆสัก1เล่ม และหนังสือเล่มนี้ก็น่าสนใจเลยแหละ…

(…. ปล. พี่แป๊ก ผมเขียนเชียร์หนังสือของพี่ซะขนาดนี้ ให้% กันบ้างนะครับ อิอิ หนังสือดีจริงๆครับ)

Link-Seed

  • Link-Seed - ผมได้รวบรวมลิงค์ "การเงิน-การลงทุน" ที่ผมสนใจมาแปะเอาไว้ในบล็อก Link-Seed เพื่อเป็นเครื่องมือในการหาข้อมูลข่าวสาร และนำมาพิจารณาการลงทุนอีกทีหนึ่ง เพื่อนๆ ...
Custom Search
 
Financeseed Copyright © 2009 Blogger Template Designed by Bie Blogger Template