ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในช่วงครึ่งปีแรกมีความผันผวนในกรอบ 67 - 87 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 79 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (จากราคาเฉลี่ย 52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงครึ่งแรกของปี 52) โดยราคาปรับตัวลดลงในช่วงต้นปี หลังจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อทำความร้อนเริ่มปรับลดลงหลังฤดูหนาวสิ้นสุดลง ประกอบกับ ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซและนโยบายการเงินตึงตัวของจีน ต่อมา ราคาน้ำมันเริ่มปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกปรับเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงอีกครั้งในเดือน พ.ค. เนื่องจาก ปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปที่ทวีความรุนแรงขึ้น และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่คุชชิ่ง ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ประมวลสถานการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันดิบในช่วงครึ่งแรกของปี 2553
- เศรษฐกิจโลก: เศรษฐกิจโลกได้กลับมาขยายตัวอีกครั้ง เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโต 3.0% ในไตรมาส 1 โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม ตลาดบ้านและตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ส่วนเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1 ขยายตัวมากถึง 11.9% แต่ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเติบโตลดลง หลังรัฐบาลจีนนำมาตรการเงินตึงตัวมาใช้ เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปยังคงเกิดปัญหาต่อเนื่องจากปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง จากกรีซไปยังโปรตุเกสและสเปน จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลต้องนำนโยบายการลดรายจ่ายในประเทศมาใช้เพื่อลดหนี้สาธารณะในประเทศ
- ความต้องการใช้น้ำมัน: ความต้องการใช้น้ำมันของโลกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยสำนักงานพลังงานสากลประมาณการความต้องการใช้น้ำมันโลกในปีนี้ที่ 86.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้น 1.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อน โดยการเติบโตส่วนใหญ่มาจากทางภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ส่วนการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งสินค้า ที่มีการใช้ปรับเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่การใช้น้ำมันในยุโรปและญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับต่ำ
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและปริมาณน้ำมันคงคลัง: โอเปคยังคงโควตาการผลิตน้ำมันดิบไว้ระดับเดิมที่ 24.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ปริมาณการผลิตจริงค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้น้ำมันของโลก ในขณะที่ โรงกลั่นในสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ยังคงกำลังการผลิตไว้ที่ระดับต่ำ จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อทำความร้อนในช่วงฤดูหนาวและจากภาคกอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
- การเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุน: นักลงทุนกลับเข้ามาเก็งกำไรในตลาดน้ำมันอีกครั้ง จากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยเฉพาะในช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ปริมาณการเข้ามาซื้อสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ยุโรปที่ค่อยๆ ทวีรุนแรงขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายปฏิรูประบบการเงินของสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนเทขายน้ำมันและหุ้น และหันกลับไปลงทุนในตลาดเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าแทน ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินยูโร
- ปัจจัยอื่นๆ: เหตุการณ์ปิดสนามบินยุโรปในเดือน เม.ย. จากปัญหาเถ้าละอองภูเขาไฟในไอร์แลนด์ ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันอากาศยานปรับลดลงประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามมาด้วยการระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทบีพี ในบริเวณอ่าวเม็กซิโก ซึ่งทำให้เกิดน้ำมันรั่วครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงสั่งห้ามการขุดเจาะน้ำมันในบริเวณชายฝั่งเป็นเวลา 6 เดือน ทำให้ตลาดวิตกเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอนาคตของสหรัฐฯและของโลก ถ้าประเทศอื่นๆ นำมาตรการการห้ามการขุดเจาะน้ำมันไปบังคับใช้
แนวโน้มราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 2553
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ที่ประมาณ 80-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยราคาน้ำมันดิบยังคงถูกดดันจากปัญหาหนี้ยุโรปและนโยบายการเงินที่ตรึงตัวขึ้นของจีน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ถ้าปัญหาหนี้ยุโรปคลี่คลายลง หรือ ฤดูกาลเฮอริเคนของสหรัฐฯ ในปีนี้มีความรุนแรงตามที่ได้มีการพยากรณ์ไว้ และได้มีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมัน
ปัจจัยที่น่าจับตามองในช่วงครึ่งหลังของปี 2553
- ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังมาตรการกระตุ้นการซื้อรถและบ้านได้หมดอายุลงแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกหรือไม่ รวมทั้ง จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำต่อไปอีกนานแค่ไหน
- สถานการณ์หนี้ในยุโรปที่อาจจะขยายตัวเป็นวงกว้างขึ้นอีกและมีโอกาสลุกลามไปยังภูมิภาคอื่นๆ ด้วย ซึ่งนโยบายของรัฐบาลในการลดรายจ่ายในประเทศ อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป
- นโยบายการเงินตึงตัวของจีน น่าจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการใช้น้ำมันของจีนในช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวลง รวมทั้ง นโยบายการปล่อยค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนด้วย
- ความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ การใช้น้ำมันในภาคอุตสหกรรมและขนส่ง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลกอาจจะส่งผลต่อการใช้น้ำมันได้
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโอเปคน่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีก แต่คาดว่า โอเปคน่าจะชะลอการปรับขึ้นโควตาการผลิตไปยังปีหน้า ในขณะที่ปริมาณน้ำมันคงคลังทั่วโลกก็น่าจะค่อยๆ ปรับลดลง แต่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับปกติ
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบ เช่น อิหร่านและไนจีเรีย รวมทั้งฤดูกาลเฮอริเคนในปีนี้ที่คาดว่าจะรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าว น่าจะมีผลกระทบต่อราคาในระยะสั้น เนื่องจากมีกำลังการผลิตน้ำมันส่วนเกินอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งปริมาณน้ำมันคงคลังทั่วโลกก็อยู่ในระดับสูง
ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น