วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หยวนแข็งดูดทุนป่วนเอเชีย

chinese new year Graphics



จีนปรับค่าหยวนกดดันแบงก์ชาติทั้งภูมิภาคบริหารค่าเงินใกล้ชิด นักบริหารเงินเตือนระวังกระแสทุนไหลเข้าทะลักท่วมเอเชีย ซ้ำด้วยการเก็งกำไรค่าเงิน " สมภพ มานะรังสรรค์"ชี้ เปิดโอกาสนักลงทุนสหรัฐฯเก็งกำไร แทนภาคการผลิตในประเทศที่หดหาย

วงการธุรกิจเห็นพ้อง หยวนแข็งค่าเทียบกับบาทส่งผลบวกทันทีการส่งออก-ท่องเที่ยว ระวังอย่าให้แข็งแซงหน้าหยวน เลขาฯสภาพัฒน์แนะไทยเพิ่มลงทุนในจีน พร้อมหาพันธมิตรประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ภายใต้การดำเนินการของทางการจีน ที่ประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นค่าเงินหยวน ที่ระดับ 6.8275 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยให้ค่าเงินหยวนสามารถเคลื่อนไหวในแต่ละวันได้ไม่เกินกรอบบวกหรือลบ 0.5 % เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากค่ากลางดังกล่าว และไม่เกินกรอบบวกหรือลบ 0.3 % เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร เยน ดอลลาร์ฮ่องกง และเงินปอนด์ (สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์) และจะดูแลการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่การปรับเพิ่มค่าเงินหยวนแบบฉับพลัน (No One-Off Revaluation) เพื่อลดแรงกดดันจากชาติสมาชิก จี-20 ทั้งแอฟริกาใต้ บราซิล สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ที่อาจใช้เวลาในการประชุมกลุ่มจี -20 (วันที่ 26-27 มิถุนายน) เรียกร้องให้จีนปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินใหม่ สาเหตุจากจีนปล่อยให้หยวนอ่อนค่ากว่าความเป็นจริงทำให้สินค้าจีนราคาถูกมาก จนเกิดความไม่สมดุลสำหรับตลาดการค้าโลกนั้น

หยวนแข็งผลดีศก.โลก

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการที่จีนปรับค่าเงินหยวนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะช่วยภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการหลายประเทศ สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายยังจีนได้มากขึ้น ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ อยู่ในช่วงของการพัฒนาจึงมีความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยก็จะได้ประโยชน์ด้วย จากปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออกไปจีนประมาณ 12% ของสัดส่วนการส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกันภายใต้การดำเนินนโยบายดังกล่าว จะเป็นผลบวกต่อประเทศจีนในการช่วยลดแรงกดดันต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อลง ขณะที่เศรษฐกิจจีนเองก็มีความแข็งแกร่ง รวมทั้งที่ผ่านมา จีนเองก็มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น การเพิ่มความยืดหยุ่นของเงินหยวนจึงถือเป็นการสะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจของจีนที่มากขึ้น " การปรับค่าเงินหยวนในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเป็นนโยบายที่ดี ช่วยให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ซึ่งหลังจีนประกาศนโยบายดังกล่าว ค่าเงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ดังนั้น คงไม่มีประเด็นความได้เปรียบเสียเปรียบกับคู่แข่งขัน โดยตั้งแต่ต้นปีมาค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าเฉลี่ย 3.1% การแข็งค่าของเงินบาทถือสอดคล้องกับพื้นฐานและกลไกทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากค่าเงินไม่ผันผวนมาก ก็ถือเป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวของภาคเอกชน"นายบัณฑิตกล่าว

*สศช.แนะลงทุนในจีน

ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. ) แนะว่า นักลงทุนไทยควรเข้าไปมีส่วนร่วมการลงทุนในประเทศจีนมากขึ้น โดยร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหลังจีนปรับค่าเงินหยวน คงต้องใช้เวลาในการประเมินสถานการณ์ในระยะหนึ่ง "การยืดหยุ่นค่าเงินหยวนจะเป็นการเพิ่มกระตุ้นการลงทุนในจีนมากขึ้น ส่งผลดีให้เกิดการจ้างงานในประเทศจีนมากขึ้น และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาวมากขึ้น ค่าเงินหยวนจะมีความเป็นสากล " นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)มองว่า จากนี้ไปความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนในแต่ละวันจะกว้างขึ้น 0.10-0.20 % จากเดิมอยู่ที่ 0.01-0.02 % แต่ขึ้นอยู่กับการแทรกแซงจากทางการจีน ซึ่งจีนน่าจะค่อย ๆ ปล่อยค่าเงินหยวนให้แข็งค่าแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยรวมทั้งปีนี้ค่าเงินหยวนมีโอกาสแข็งค่าได้ 2 % และปีหน้าเฉลี่ย 3%สอดคล้องผลการสำรวจนักวิเคราะห์ของBloomberg ที่คาดเงินหยวนจะแข็งค่ารวม 2% ภายในสิ้นปีขณะที่ตลาดคาดว่า เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นราว 3 % ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า

หยวนแข็ง3% ใน 1 ปี

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ความรวดเร็วและขนาดของอัตราการแข็งค่าของเงินหยวนน่าที่จะถูกบริหารจัดการอย่างใกล้ชิดจากทางการจีนต่อไป โดยประเมินเงินหยวนอาจขยับแข็งค่าขึ้นอีกราว 1.8 % ภายในสิ้นปีนี้ โดยในระยะ 12 เดือนข้างหน้าอีกประมาณ 3.0 % ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการแข็งค่าที่ไม่มากนัก หากเทียบกับอัตราการแข็งค่าเฉลี่ยประมาณ 6.3 % ต่อปี ในช่วงเวลา 3 ปี หลังการปฏิรูปเงินหยวนกลางปี 2548 แนวโน้มค่าเงินหยวนที่จะแข็งค่าจะส่งผลดีต่อสกุลเงินในภูมิภาคให้แข็งค่าตาม โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ริงกิต วอน รวมทั้งปัจจัยบวกต่อการลงทุนของสินทรัพย์ในเอเชีย ทั้ง ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรรัฐบาล และอาจมีผลด้านจิตวิทยาเชิงบวก ต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ประเภทถ่านหินและน้ำมันด้วย สำหรับประเทศไทยก็จะรับอานิสงส์อย่างน้อยช่วงสั้น ๆ ทั้งการลงทุนในตลาดหุ้น และค่าเงินบาท ที่แข็งค่าตามสกุลเงินในภูมิภาค โดยภาคการส่งออกของไทยผลกระทบไม่มาก จากค่าเงินหยวนและค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น แต่ครึ่งปีหลังกำลังซื้อ(อุปสงค์)อาจแผ่วลง เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปมีปัญหาหนี้สาธารณะอยู่ และจีนเองที่ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น

*นักลงทุนสหรัฐฯเก็งกำไร ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ผู้อำนวยการ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะทางการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทย โดยใช้นโยบายการคลัง-การเงินให้มีประสิทธิภาพ ลดการใช้นโยบายเพื่อสนองนโยบายประชานิยม ทั้งนี้ เพื่อการปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่นตามกระแสตลาดโลก เพราะแนวโน้มค่าเงินหยวนจะลากค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชีย ให้แข็งค่าในระยะ 1-2 ปี ส่งผลต่อการเก็งกำไรค่อนข้างสูงทั้งตลาดเงิน ตลาดทุนและสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า เช่น สินค้าเกษตร น้ำมันและเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ผู้ส่งออกต้องเตรียมความพร้อมป้องกันความเสี่ยงรองรับความผันผวนของสกุลเงินภูมิภาคเช่นกัน
"เมืองไทยจะได้ประโยชน์จากการขาดดุลการค้าจีนน้อยลงในระยะสั้น 6 เดือนถึง 1 ปี และสามารถแข่งขันกับสินค้าจีนที่ส่งไปขายในประเทศโลกที่ 3 แต่แนวโน้มค่าหยวนแข็งค่าจะลากสกุลเงินในเอเชียให้แข็งค่าตาม เปิดโอกาสนักลงทุนสหรัฐ ฯ หากินกับการเก็งกำไรตลาดเงิน หรือทั้งภาคตลาดเงินและตลาดทุน แทนภาคการผลิตหรือเรียลเซ็กเตอร์ของสหรัฐฯที่อ่อนแอลงอย่างเห็นชัด" ดร.สมภพกล่าว

*เงินทุนไหลเข้าท้าทายแบงก์ชาติเอเชีย

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยฝ่ายเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ).ระบุว่า ปัญหาเงินทุนไหลเข้าจะเป็นความเสี่ยงและความท้าทายของธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งการแข็งค่าของเงินหยวน จะทำให้ต่างชาติอยากใช้สกุลเงินอื่นเก็งกำไรจากหยวน โดยเฉพาะประเทศเกาหลี มาเลเซีย และไทย ที่ได้อานิสงส์จากการที่จีนนำเข้าค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาธนาคารกลางส่วนใหญ่พยายามเข้าดูแลค่าเงิน รวมทั้งธปท.ก็พยายามซื้อเวลาช่วยเหลือผู้ประกอบการเช่นกัน แต่แนวโน้มที่ค่าเงินจะผันผวนสูงขึ้น เวลานี้ต้นทุนในการซื้อประกันความเสี่ยงยังอยู่ในระดับต่ำ จึงแนะนำผู้ส่งออกซื้อประกันความเสี่ยงไว้ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มีรายรับในรูปของสกุลเงินยูโร ซึ่งธนาคารประเมินว่า ค่าเงินบาทต่อยูโรจากขยับเป็น 37 บาท ต่อยูโรภายในสิ้นปีนี้จากปัจจุบันอยู่ที่ 39.8 บาทต่อยูโร ทั้งนี้ ความผันผวนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯต่อสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียในรอบ 30 วัน พบว่า ค่าเงินวอนแข็งค่าขึ้น 26.44% ริงกิต 11.58% เปโซ 11.05% รูเปีย 9.57% ดอลลาร์สิงคโปร์ 7.69% ไต้หวัน 7.36% เงินบาท 2.9 % ฮ่องกง 1.74% และหยวน 1.46% เป็นต้น

ที่มา : จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (วันที่ 25 มิถุนายน 2553)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Link-Seed

  • Link-Seed - ผมได้รวบรวมลิงค์ "การเงิน-การลงทุน" ที่ผมสนใจมาแปะเอาไว้ในบล็อก Link-Seed เพื่อเป็นเครื่องมือในการหาข้อมูลข่าวสาร และนำมาพิจารณาการลงทุนอีกทีหนึ่ง เพื่อนๆ ...
Custom Search
 
Financeseed Copyright © 2009 Blogger Template Designed by Bie Blogger Template